อาการ และวิธีรักษา 5 โรคที่พบได้บ่อยในน้องแมว - Arak Animal Hospital

อาการ และวิธีรักษา 5 โรคที่พบได้บ่อยในน้องแมว

ผู้เขียน : สพ.ญ. นมิดา เตชมธุชาตินันท (หมอเมษา)

น้องแมวมีอาการซึม อยู่ดีๆ ก็กินข้าวน้อยลงหรือไม่ยอมกินข้าว ไม่ร่าเริง ไม่วิ่งเล่น หรือ ไม่มาอ้อนคลอเคลียเหมือนเคย อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบอกว่า น้องแมวของเรากำลังป่วยอยู่ก็เป็นได้ วันนี้เราเลยอยากจะพาทาสทั้งหลายมาทำความรู้จักกับ 5 โรคยอดฮิตที่พบได้บ่อยในน้องแมวว่ามีอะไรบ้าง แล้วอาการแต่ละโรคเป็นอย่างไร เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ และ พามารักษาได้อย่างทันท่วงทีกันนะคะ

 

1.โรคหวัดแมว

โรคนี้เกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ยกตัวอย่างเช่น Herpesvirus, Calicivirus และ Bordetella bronchiseptica พบได้บ่อยในลูกแมวและรวมถึงในแมวที่โตเต็มที่ในทุกช่วงวัย  

อาการของโรคหวัดแมว

อาการที่เจ้าของสามารถเห็นได้ชัดเจนคือ จาม มีน้ำมูก ขี้ตาแฉะ ถ้าหากพบในลูกแมวที่ยังเด็กมากมักมีอาการที่รุนแรง เช่น ไม่ทานอาหาร มีภาวะแห้งน้ำ อ่อนแรง และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

การรักษาโรคหวัดแมว

โรคหวัดแมวยังไม่มีการรักษาโรคที่จำเพาะเจาะจง ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการ อาจจะมีการให้ยาฆ่าเชื้อรวมถึงการให้สารน้ำที่เพียงพอในแมวที่มีภาวะแห้งน้ำ ซึ่งแม้จะรักษาหายแล้วก็ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ถ้ามีภาวะโน้มนำ เช่น เครียด หรืออยู่ในช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการได้รับวัคซีนที่ครบถ้วน 

 

หากสงสัยว่าน้องแมวเป็นโรคหวัดแมวสามารถทำนัดคุณหมอศูนย์โรคแมวโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ได้ที่ลิงก์นี้เลยนะคะ https://arakanimal.com/clinics/cat-center

 

2.โรคในแมวที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ

ในแมวโดยเฉพาะแมวเพศผู้ที่เลี้ยงในบ้าน ที่ตุ้ยนุ้ยหน่อยๆ อาจเป็นโรค Feline Lower Urinary Tract Disease (FLUTD) หรือ กลุ่มอาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง หรือก็คือ กระเพาะปัสสาวะ และท่อทางเดินปัสสาวะ สาเหตุเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อ โรคนิ่ว การอักเสบ หรือ แม้แต่ความเครียด

อาการของโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะที่เห็นได้ชัด

คือ น้องแมวจะมีอาการปวดเบ่งขณะปัสสาวะ ปัสสาวะติดขัด หรือ มีเลือดปนในปัสสาวะ 

การรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะเบื้องต้น

คือหากน้องปัสสาวะไม่ออกเลย เราจำเป็นต้องสวนเพื่อระบายปัสสาวะ และให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาลดอาการอักเสบ ถ้าอาการรุนแรงอาจจะต้องมีการผ่าตัดร่วมด้วย โดยแต่ละสาเหตุจะมีวิธีการแก้ไขที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากน้องแมวปัสสาวะไม่ออก หรือ ปัสสาวะลำบาก แนะนำให้พามาพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุ ทำการรักษาและป้องกันอย่างเหมาะสม 

 

หากสงสัยว่าน้องแมวเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะสามารถทำนัดคุณหมอศูนย์โรคอายุรกรรมโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ได้ที่ลิงก์นี้เลยนะคะ https://arakanimal.com/clinics/internal-medicine-center

 

3.โรคไต

ภาวะที่มักพบในน้องแมวที่อายุมาก เนื่องจากไตเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น หรืออาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่นการกินอาหารไม่เหมาะสม ภาวะความดันโลหิตสูง การได้รับยาบางชนิด สารพิษ การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย 

อาการที่เจ้าของอาจพบได้ของโรคไตในแมว

คือ ซึม ดูแห้งน้ำ กระหายน้ำ ไม่กินอาหาร ปัสสาวะบ่อย น้ำหนักลด กล้ามเนื้อฝ่อลีบ และอาเจียน  

แนวทางการรักษาโรคไตแมว

สัตวแพทย์จะอาศัยการปรับอาหารให้เหมาะสมกับภาวะโรคไต และให้ปริมานน้ำอย่างเพียงพอ ในรายที่น้องแมวมีอาการแห้งน้ำอย่างรุนแรงอาจจะมีการให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือด หรือ ใต้ชั้นผิวหนังร่วมด้วย

 

หากสงสัยว่าน้องแมวเป็นโรคไตสามารถทำนัดคุณหมอศูนย์โรคอายุรกรรมโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ได้ที่ลิงก์นี้เลยนะคะ https://arakanimal.com/clinics/internal-medicine-center

 

4.เชื้อรา

หนึ่งในโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยในน้องแมว โดยจะก่อโรคในแมวที่ภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดีนัก หรือ มีความเครียด จึงมักพบได้ในแมวที่เลี้ยงรวมกันหลายตัว แมวที่เพิ่งรับเข้ามาเลี้ยงใหม่ หรือ ลูกแมว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยโน้มนำอื่นๆ เช่น ที่อยู่อาศัยที่อับชื้น การเป่าขนหลังอาบน้ำไม่แห้ง ก็มักเป็นสาเตุที่ทำให้เกิดเชื้อราสะสมได้  

อาการของโรคเชื้อราที่พบ

คือ มีขนร่วงเป็นหย่อม เริ่มแรกอาจจะแค่ตำแหน่งเดียว ถ้าเป็นมากขึ้นอาจจะขยายเป็นวงทั่วร่างกาย มีสะเก็ดรังแค มีตุ่มเดง โดยโรคนี้ เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์เลี้ยงด้วยกันและยังติดมาสู่คนได้ด้วยเช่นกัน (Zoonosis) 

ดังนั้นถ้าเจ้าของพบเห็นอาการเหล่านี้ แนะนำให้แยกเลี้ยงกับแมวตัวอื่น ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสแมว และพามาตรวจกับสัตวแพทย์โดยเร็ว

การรักษาเชื้อราในแมว

สัตวแพทย์จะรักษาโดยการให้ยาต้านเชื้อรา เพราะเป็นโรคที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษายาวนาน ซึ่งบางตัวต้องกินยาเพื่อรักษากันหลายเดือนเลยทีเดียวค่ะ

 

หากสงสัยว่าน้องแมวเป็นโรคเชื้อราสามารถทำนัดคุณหมอศูนย์โรคผิวหนังและภูมิแพ้โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ได้ที่ลิงก์นี้เลยนะคะ https://arakanimal.com/clinics/skin-and-allergy-center

 

5.ปรสิตภายนอก

ปรสิตที่พบได้บ่อยในประเทศไทยได้แก่  

  • หมัด :  Ctenocephalides felis

อาการที่แสดงคือ ระคายเคืองและคันจากที่โดนหมัดดูดเลือด บางตัวถ้ามีภาวะการแพ้น้ำลายหมัด (FAD: flea allergy dermatitis) น้องแมวจะเลียตัวเอง หรือไถตัวและใบหน้าบ่อยๆ  จนผิวหนังอักเสบแดงไปหมด ในรายที่มีหมัดเยอะมากๆ หรือ มีการติดพยาธิเม็ดเลือดที่มีหมัดเป็นพาหะ อาจจะทำให้มีภาวะโลหิตจาง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา สามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ 

  • ไร : ที่พบได้บ่อยคือ ไรขี้เรื้อนแห้ง (Notoedres cati) และ ไรในหู (Otodectes cynotis

ไรขี้เรื้อนแห้งมักทำให้คัน ขนร่วง ผิวหนังอักเสบแบบลอกหลุดเป็นแผ่น ผิวหนังหนาตัวขึ้น ส่วนถ้าหากเป็นไรในหู มักพบว่าแมวมีขี้หูสีน้ำตาลเข้ม-ดำ เมื่อเช็ดทำความสะอาดหูจะพบใบหูและรูหูแดงเนื่องจากการอักเสบ  

  • เหา :  Felicola subrostratus

พบได้ในแมวทุกช่วงวัย และมักเกาะอยู่ที่โคนขนบริเวณหัว คอ หาง และรูเปิดของอวัยวะ ทำให้แมวระคายเคืองและมีอาการคัน มีรังแคและพบขนร่วงหรือขนหัก  

การรักษาการติดเชื้อปรสิตภายนอกในแมว

ต้องทำควบคู่ไปกับการป้องกัน คือมีการจัดการสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาดที่อยู่อาศัย และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันปรสิตภายนอกเป็นประจำทุกเดือน 

 

หากสงสัยว่าน้องแมวมีหมัด ไร หรือเหาสามารถทำนัดคุณหมอศูนย์โรคผิวหนังและภูมิแพ้โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ได้ที่ลิงก์นี้เลยนะคะ https://arakanimal.com/clinics/skin-and-allergy-center

 

น้องแมวไม่สามารถพูดกับเราได้ว่าเขารู้สึกไม่สบาย ทาสแมวอย่างเราจึงต้องคอยสังเกตอาการของเจ้านาย ถ้ามีอาการซึม หงอย พฤติกรรมเปลี่ยนไปไม่ควรมองข้ามและรีบพามาหาสัตวแพทย์โดยเร็วนะคะ

 

 

 

เอกสารอ้างอิง 

1. Common Cat Diseases. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 จาก https://www.aspca.org/pet-care/cat-care/common-cat-diseases  

2. Dryden M. and Payne P. 2005. Preventing parasites in cats. Veterinary Therapeutics. 6(3). 

สอบถามเพิ่มเติม และนัดหมาย

แชร์
99 ซอยสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2023 Arak Animal Hospital | All Rights Reserved