น้องหมา น้องแมวท้องโตเกิดจากอะไร - Arak Animal Hospital

น้องหมา น้องแมวท้องโตเกิดจากอะไร

ผู้เขียน : สพ.ญ. กุลรดา ธนาโชคกุลธร

น้องหมา น้องแมวท้องโตเกิดจากอะไร

ท้องโตหรือท้องกาง (Abdominal Enlargement/Distension)

ภาวะช่องท้องขยายใหญ่ ยังเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยง ทั้งน้องหมา และ น้องแมว ซึ่งอาจจะถูกพบได้โดยบังเอิญจากคุณพ่อ คุณแม่ผู้เลี้ยง หรืออาจถูกตรวจพบขณะที่สัตวแพทย์ทำการตรวจร่างกาย สาเหตุของการเกิดภาวะช่องท้องขยายใหญ่มีหลากหลาย โดยเบื้องต้นจะสามารถจำแนกโดยใช้หลักการ 7 F’s ขึ้นกับลักษณะปรากฏและการตรวจพบ ซึ่งได้แก่ 

  1. การสะสมของไขมัน (Fat) 
  2. การสะสมของของเหลว (Fluid)
  3. การมีก้อนเนื้อ (Firm)
  4. การสะสมของอาหาร/อุจจาระ (Food/Feces)
  5. การสะสมของอากาศ (Flatulence)
  6. การหย่อนของกล้ามเนื้อช่องท้อง (Flabby)
  7. การตั้งท้อง (Fetus)

การสะสมของไขมันในช่อง

โดยส่วนมากมักเป็นผลมาจากการสะสมของไขมันส่วนเกินในร่างกายจากสภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน (Obesity) หรืออาจเกิดจากการสะสมของไขมันที่ผิดปกติจากภาวะเนื้องอกไขมัน หรือการมีโรคฮอร์โมนบางชนิดที่ส่งผลต่อไขมัน เช่นไทรอยด์หรือต่อมหมวกไต เป็นต้น

การสะสมของของเหลว

เป็นสาเหตุหลักที่พบได้บ่อย ซึ่งสามารถพบได้ทั้งการสะสมของของเหลวในอวัยวะเช่น การมีน้ำปัสสาวะสะสมในกระเพาะปัสสาวะในรายสัตว์ป่วยที่มีภาวะทางเดินปัสสาวะอุดตัน เช่นนิ่ว หรือการมีหนองสะสมในมดลูกในรายสัตว์ป่วยมดลูกอักเสบ เป็นต้น  ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการมีของเหลวในช่องท้อง (Abdominal free fluid) ซึ่งมักเกิดจากการเสียสมดุลของแรงดันภายในและนอกหลอดเลือด (Imbalances of Starling’s forces) เช่น น้องหมา น้องแมวที่เป็นโรคหัวใจห้องขวาล้มเหลว (Right-sided heart failure) หรือในน้องหมา น้องแมวที่ป่วยโรคตับ และยังอาจเกิดได้จากภาวะหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis) เช่น ในน้องแมวที่ติดเชื้อไวรัสเยื่อบุช่องท้องอักเสบแบบเปียก (Feline Infectious Peritonitis ;FIP wet form)  เป็นต้น โดยกระบวนการดังกล่าวจะทำให้เกิดการซึมผ่านของของเหลวจากหลอดเลือดออกสู่ช่องท้องและทำให้เกิดการขยายใหญ่ได้  หรือในภาวะฉุกเฉิน เช่น การเกิดอุบัติเหตุสามารถทำให้เกิดกระเพาะหรือท่อทางเดินปัสสาวะฉีกขาด (Urinary bladder/ Urethra rupture) เกิดการสะสมของน้ำปัสสาวะภายในช่องท้อง  (Uroabdomen) หรือในกรณีอวัยวะภายในช่องท้องเสียหายสามารถเกิดภาวะเลือดออกภายในช่องท้อง (Hemoabdomen) และทำให้เกิดช่องท้องขยายใหญ่ได้เช่นกัน

ช่องท้องขยายใหญ่จากก้อนเนื้อ (Firm)

สามารถเกิดได้จากการขยายใหญ่ของอวัยวะในช่องท้อง เช่นตับ ม้าม หรือแม้กระทั่งต่อมน้ำเหลือง โดยมักมีสามาเหตุมาจากโรคเนื้องอก เกิดจากการสะสมของเซลล์เนื้องอก ทำให้อวัยวะดังกล่าวมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่หากในกรณีที่ก้อนเนื้อมีขนาดเล็ก อาจทำให้ยังไม่พบการขยายใหญ่ของช่องท้องได้

การสะสมของอาหาร/อุจจาระ

การกินอาหารปริมาณมากในน้องหมา น้องแมวอายุน้อยอาจทำให้พบภาวะช่องท้องขยายใหญ่ได้เป็นปกติ แต่หากทางเดินอาหารเกิดความไม่สมดุลของการเคลื่อนตัวอาจทำให้เกิดภาวะท้องผูก (Constipation) และเกิดการสะสมของอาหารหรืออุจจาระปริมาณมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง และมีภาวะช่องท้องขยายใหญ่ได้

การสะสมของอากาศในอวัยวะภายในช่องท้อง

สามารถพบได้เป็นปกติในทางเดินอาหาร แต่หากมีการสะสมมากเกินไปในกระเพาะอาหาร อาจทำให้เกิดภาวะกระเพาะอาหารขยายใหญ่และบิดหมุนได้ (Gastric dilatation and volvulus) หากพบการสะสมของอากาศในตำแหน่งลำไส้ อาจทำให้มีอาการท้องเฟ้อ (ileus) ปวดท้อง แน่นท้องได้  ในทางกลับกัน การมีแก๊สสะสมภายในช่องท้อง อาจเกิดตามมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียทีที่สามารถการสร้างแก๊สได้ เช่น ในรายสัตว์ป่วยทางเดินอาหารทะลุ (Gastrointestinal perforation) และเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Gas-producing bacteria in septic peritonitis ) เป็นต้น

การหย่อนของกล้ามเนื้อช่องท้อง

เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดลักษณะคล้ายภาวะช่องท้องขยายใหญ่ได้ โดยส่วนมากมักมีความสัมพันธ์กับโรคของฮอร์โมนต่อมหมวกไต (hyperadrenocorticism) 

นอกจากสาเหตุข้างต้นแล้ว การตั้งท้อง (Pregnancy)

เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้มีการขยายใหญ่ของช่องท้อง แต่นอกจากจะทำให้ช่องท้องขยายใหญ่แล้ว ยังพบร่วมกับการขยายใหญ่ของเต้านมด้วยโดยเฉพาะในช่วงใกล้คลอด  อย่างไรก็ตามในสัตว์ป่วยคลอดยาก อาจพบภาวะลูกค้างในมดลูกหรือมดลูกแตก ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะช่องท้องขยายใหญ่ต่อเนื่องได้แม้ว่าจะเลยกำหนดการคลอดไปแล้วก็ตาม 

การตรวจวินิจฉัย

นอกจากการตรวจร่างกายอย่างครบถ้วนแล้ว สัตวแพทย์สามารถใช้เครื่องมือและการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เหมาะสมในการช่วยวินิจฉัยเพิ่มเติมได้ เช่น 

  1. การตรวจค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและค่าเคมีในเลือด ( Complete blood count and Blood Chemistry )
  2. การตรวจภาพรังสีวินิจฉัย ( Radiograph )
  3. การตรวจช่องท้อง/หัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง ( Abdominal Ultrasound/ Echocardiogram )
  4. การตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างจากช่องท้อง
  5. การตรวจเซลล์หรือ ( Cytology )
  6. การตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างของเหลว ( Fluid analysis )  เป็นต้น

อย่างไรก็ตามหากเจ้าของพบว่าน้องหมา น้องแมวมีภาวะช่องท้องขยายใหญ่หรือสงสัยว่าอาจมีอาการข้างต้น ควรรีบพามาพบสัตวแพทย์เพื่อประเมินอาการและหาสาเหตุเพื่อรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

หากคุณพ่อคุณแม่กังวลว่าลูกๆ จะมีอาการผิดปกติหรือไม่สามารถพาน้องมาตรวจสุขภาพกับคุณหมอที่โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ได้นะคะ ตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพได้ที่ลิงก์นี้เลยค่ะ

https://arakanimal.com/packages/Pet-Health-Check


บทความโดย สพ.ญ. กุลรดา ธนาโชคกุลธร ศูนย์โรคทั่วไป
สอบถามเพิ่มเติม และนัดหมาย

แชร์
99 ซอยสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2023 Arak Animal Hospital | All Rights Reserved