รักษาแมวคนอื่นว่ายากแล้ว แต่….รักษาแมวตัวเองคือยากที่สุด - Arak Animal Hospital

รักษาแมวคนอื่นว่ายากแล้ว แต่….รักษาแมวตัวเองคือยากที่สุด

ผู้เขียน : สพ.ญ.ปนัดดา ดาราพงษ์ (หมอป่าน)

แม้ตัวเองจะเป็นสัตว์แพทย์  แต่เมื่อแมวของเราป่วย ถึงเราจะทราบดีถึงวิธีการวินิจฉัยและการรักษา แต่การตัดสินใจในทุกอย่างนั้นยากอย่างยิ่ง

 

ในบทความนี้ คุณหมอป่าน หรือ สพ.ญ.ปนัดดา ดาราพงษ์ จะมาเล่าถึงประสบการณ์การรักษาน้องท้องคลัง ที่เป็นแมวของคุณหมอเอง ผ่านมุมมองผู้เลี้ยงที่เป็นสัตวแพทย์ ความยากที่ไม่ใช่เรื่องการรักษา แต่เป็นการตัดสินใจ และการทำใจยอมรับมากกว่า เพื่อเป็นการแชร์ประสบการณ์ ในการรักษา และการตัดสินใจให้กับพ่อแม่ของลูกๆ สี่ขาท่านอื่นๆ หากในอนาคตลูกๆ มีความจำเป็นจะต้องเข้ารับการรักษาแบบในกรณีน้องท้องคลัง

 

เราอยากเล่าเรื่องของแมวเรา เพื่อว่าอาจจะเกิดประโยชน์กับผู้ที่ได้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์แพทย์ด้วยกันเองในแง่ของการวินิจฉัยและการรักษา หรือ  เจ้าของเพื่อที่จะได้สังเกตอาการ รักษา และดูแลสัตว์เลี้ยงที่เรารักต่อไป

 

น้องท้องคลัง  แมวเปอร์เซีย สีเทา เพศผู้ ทำหมันแล้ว อายุ 10 ปี เริ่มมีอาการ ไอ จาม มีน้ำมูก  ในช่วง 2 สัปดาห์แรก ยังกินได้แต่น้อยลง น้ำหนักเริ่มลด อาจจะเพราะไม่ได้กลิ่นอาหาร จากที่ชอบมาอ้อนกินขนมแมวเลีย ก็ไม่มาขอ จากที่ชอบวิ่งขึ้นบันไดมาเคาะประตูห้อง มาเล่นโยคะกับเรา ก็หลบตัวอยู่แต่ข้างล่าง เป็นครั้งแรกตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาที่น้องท้องคลังป่วย เราเริ่มรู้สึกเป็นกังวลและสังหรณ์ใจไม่ดี แต่เนื่องจากอาการไม่ชัดเจนและไม่หนักคล้ายกับแมวเป็นหวัดธรรมดา เราจึงเริ่มทำการรักษาแนวโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนต้น โดยการให้ยาปฏิชีวนะและยาลดน้ำมูกไปก่อน ซึ่งก็ดูเหมือนจะตอบสนองและดีขึ้น แต่หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ พอยาหมดก็กลับมามีอาการอีก ซึ่งคราวนี้น้ำมูกเริ่มมีเลือดปน หายใจไม่สะดวก กินน้อยลง น้ำหนักลดลงชัดเจน กับเราสังเกตเห็นว่ามีก้อนในรูจมูกด้านขวา ตอนนั้นเราตกใจทำอะไรไม่ถูก บอกกับตัวเองว่าขอให้ไม่ใช่ก้อนเนื้อร้ายหรือมะเร็ง 

 

โดยส่วนตัวก็ทราบดีถึงวิธีการวินิจฉัยที่ดีที่สุด คงเป็นการทำ CT scan และตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ ซึ่งหากจะทำ ก็ต้องมีการวางยาสลบ

 

ถึงแม้เราเคยผ่าตัดและวางยาสลบสัตว์ตัวอื่นมามากมาย แต่ในฐานะเจ้าของน้องท้องคลังแล้ว เรามีความกังวลและกลัวมาก เพื่อความมั่นใจเราจึงต้องทำการประเมินความเสี่ยงของการวางยา โดยตรวจสุขภาพ ตรวจเลือด  X-rays กะโหลก ช่องอก ช่องท้อง และ อัลตราซาวด์หัวใจ (echocardiogram)

ซึ่งพบว่า น้องท้องคลังมีความเสี่ยงในการวางยาสลบระดับ 3 เนื่องจากมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาในระยะเริ่มแรก (hcm b1) และจากการ X-rays กะโหลกเบื้องต้น พบว่า โพรงจมูกด้านขวามีความทึบรังสีมากกว่าอีกข้าง แต่ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงของกระดูกที่โพรงจมูก และปอดยังดูปกติ

 

แม้ว่าความเสี่ยงในการวางยาของน้องท้องคลังจะค่อนข้างสูงกว่าแมวทั่วไป แต่เราก็ตัดสินใจวินิจฉัยต่อ เพราะเราคิดย้อนกลับไปว่าเราเคยผ่านการรักษาสัตว์ตัวอื่นๆ มามากมายและมีหลายตัวที่ประสบความสำเร็จในการรักษาและหาย เราหวังน้องท้องคลังก็จะเป็นหนึ่งในนั้น  โดยในวันที่ทำ CT scan เราทำการอดอาหารน้องท้องคลังประมาณ 8 ชั่วโมง เพราะต้องได้รับการวางยาสลบ ตัวเราเองขอเป็นวิสัญญีแพทย์เองและได้วางแผนกับทีมหมอและผู้ช่วยของเรา ให้เตรียมพร้อมในทุกขั้นตอนเพื่อให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี

 

การทำ CT scan และการตัดชิ้นเนื้อที่โพรงจมูกขวา สำเร็จไปด้วยดี  แม้น้องท้องคลังจะมีการฟื้นตัวจากยาสลบช้าเล็กน้อยเนื่องจากสภาพร่างกายหรือโรคที่เป็นอยู่  แต่หลังจากที่ได้ดูแลในห้องพักฟื้นสักพัก น้องท้องคลังก็ฟื้นตัวได้และปลอดภัยดี 

 

สพ.ญ. ปนัดดา ดาราพงษ์ เครื่อง CT Scan สัตว์เลี้ยง โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์

 

จากการอ่านผล CT scan พบว่า

  1. มีก้อนเนื้อที่โพรงจมูกขวา โดยที่ก้อนเริ่มใหญ่มากขึ้น จนเริ่มเบียดลูกตาด้านขวา  และ ทำให้มีการสลายของกระดูกในโพรงจมูกขวา ซึ่งการ X-rays ไม่สามารถมองเห็นได้
  2. พบความผิดปกติที่ปอด 
  3. พบก้อนเนื้อที่สมอง
  4. ต่อมน้ำเหลืองใต้คางมีขนาดใหญ่ขึ้น

 

จากผล CT scan ข้างต้นทำให้เรารู้ถึงตำแหน่งของก้อนเนื้อต่างๆ ที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภาพ X-rays ถึงตอนนี้เราก็ทราบแล้วว่าน้องท้องคลังมีแนวโน้มอาจจะเป็นมะเร็ง ซึ่งการรักษาโดยการผ่าตัดอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก  เนื่องจากขอบเขตของก้อนเนื้อไม่ชัดเจน รวมถึงอาจมีการแพร่กระจาย แต่เราก็ยังคงมีความหวัง คือ ถ้าเราทราบชนิดจากผลชิ้นเนื้อที่ส่งตรวจ เราอาจทำเคมีบำบัดต่อได้ถ้าร่างกายของน้องท้องคลังพร้อม และเป็นมะเร็งชนิดที่ตอบสนองกับเคมีบำบัด แต่ถ้าเป็นชนิดที่ไม่ตอบสนองเราก็จะสามารถพยากรณ์โรคได้ว่าเราจะดูแลน้องท้องคลังไปตามอาการให้ดีที่สุดได้อย่างไรในฐานะเจ้าของคนหนึ่ง 

 

ภาพ CT Scan แมว โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์

 

ในฐานะสัตว์แพทย์ 

เราคิดว่าการทำ CT scan มีประโยชน์และมีส่วนช่วยการตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น  เนื่องจากในบางครั้งการทำ X-Rays หรือ อัลตราซาวด์ ไม่สามารถให้ภาพที่ชัดเจนและทำให้ยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ถึงที่สุด อย่างในกรณีของน้องท้องคลัง หากไม่ทำ CT scan เราจะไม่สามารถทราบเลยว่าก้อนเนื้อที่พบในจมูกนั้น มีขอบเขตเป็นอย่างไร ลุกลาม หรือมีการแพร่กระจายหรือยัง

 

ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของน้องท้องคลัง

การทำ CT scan ในครั้งนี้ทำให้รู้ว่า เราจะไปต่อ มีความหวังหรือไม่ หรือ หากทำได้เพียงเท่านี้ อย่างน้อยเราก็ได้ทำถึงที่สุดแล้ว เราอยากบอกว่าการเปลี่ยนแปลงหรือภาวะเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย เราต้องสังเกต และรีบตรวจให้พบ อย่าปล่อยไว้ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงของเราได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยเราก็ได้ทำให้เต็มที่และดีที่สุดแล้ว จะได้ไม่เสียใจในภายหลัง ซึ่งเรารู้สึกโชคดีที่เราได้เป็นสัตวแพทย์ เพราะเรามีโอกาสได้ใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เท่าที่สัตว์แพทย์คนนี้มี มาดูแลน้องท้องคลังอย่างดีที่สุด

ขอบคุณท้องคลังที่มาอยู่ด้วยกัน มาเติมเต็มความสุขให้กันและกันตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาและหวังว่าจะได้ดูแลกันต่อไปในอนาคตอีกนานๆ

 

สพ.ญ. ปนัดดา ดาราพงษ์

 

เราหวังว่าเรื่องของเราจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย

สุดท้ายนี้เราขอขอบคุณ  สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ ทีมงานศูนย์ศัลยกรรมและวิสัญญี และ ศูนย์รังสีวินิจฉัย โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ ที่ช่วยให้น้องท้องคลังปลอดภัยจากการวางยาสลบ และทำ CT scan ในครั้งนี้

สอบถามเพิ่มเติม และนัดหมาย

แชร์
99 ซอยสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2023 Arak Animal Hospital | All Rights Reserved