
สุนัขเป็นอัลไซเมอร์ได้จริงหรือไม่? ภาวะสมองเสื่อมในสุนัขคืออะไร?
สุนัขเป็นอัลไซเมอร์ได้จริงหรือไม่? ภาวะสมองเสื่อมในสุนัขคืออะไร?
หลายคนอาจสงสัยว่า สุนัขสามารถเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้หรือไม่? คำตอบคือ สุนัขก็สามารถมีภาวะสมองเสื่อมได้ ซึ่งเราเรียกว่า ภาวะสมองเสื่อมในสุนัข หรือ cognitive dysfunction syndrome (CDS) สุนัขจะแสดงอาการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม เกิดจากความสามารถของสมองที่เสื่อมถอยลงไปตามอายุที่มากขึ้น
ภาวะสมองเสื่อมในสุนัขคืออะไร?
ภาวะสมองเสื่อมในสุนัขเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับสุนัขที่มีอายุมากขึ้น โดยสมองของสุนัขจะเริ่มเสื่อมถอยจากกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับอายุ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ มีการศึกษาสุนัขที่มีอายุมากกว่า 8 ปีขึ้นไปจำนวน 100 ตัว พบว่า 15-20 ตัวจะเริ่มมีปัญหาจากภาวะสมองเสื่อมเเล้ว เจ้าของสุนัขมักจะสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดในการรักษา เพราะหากปล่อยจนมีอาการหนักแล้วนอกจากการรักษาจะทำได้ยากแล้ว มักจะพบว่าเกิดปัญหาของคุณภาพชีวิตตามมา
กลไกการเกิดภาวะสมองเสื่อม
กลไกการเกิดภาวะสมองเสื่อมในสุนัขนั้นคล้ายคลึงกับโรคอัลไซเมอร์ในคน โดยมักพบการสะสมของโปรตีน Beta amyloid และเส้นใย Tau ในสมอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง นอกจากนี้ยังอาจพบการเกิดพังผืดในหลอดเลือดในสมอง, โพรงน้ำในสมองขยายขนาด, เนื้อสมองฝ่อเล็กลง, ภาวะเลือดออกจากหลอดเลือดฝอยในสมอง รวมถึงการทำงานที่ผิดปกติของ ไมโทคอนเดรีย ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยในการผลิตพลังงานในเซลล์สมอง
อาการของภาวะสมองเสื่อมในสุนัข
การสังเกตอาการของสุนัขที่อาจมีภาวะสมองเสื่อมสามารถทำได้โดยใช้หลักการ DISHAA ซึ่งย่อมาจากอาการที่พบได้ชัดเจนดังนี้
- Disorientation (ภาวะเหม่อลอย): สุนัขมักจะมีอาการเหม่อลอย หลงทาง หรือเดินวนไปมาในที่ที่คุ้นเคย
- Alteration in Social Interaction (การเปลี่ยนแปลงในปฏิสัมพันธ์ทางสังคม): สุนัขอาจเปลี่ยนแปลงการตอบสนองต่อเจ้าของหรือสัตว์เลี้ยงตัวอื่น เช่น ไม่สนใจการเล่นหรือการสัมผัสเหมือนเดิม
- Changes in Sleep-Wake Cycles (การหลับตื่นผิดปกติ): สุนัขอาจนอนหลับมากขึ้นในตอนกลางวันและตื่นมากระวนกระวายตอนกลางคืน
- Loss of House Training (หลงลืมการใช้ชีวิตบ้านและสิ่งที่เคยรู้จัก): สุนัขอาจลืมสิ่งขอของหรือคนที่เคยรู้จัก หรือ ขับถ่ายผิดที่
- Altered Activity Level (มีการทำกิจกรรมใดๆที่ผิดปกติ): สุนัขอาจแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว
- Increased Anxiety (ภาวะวิตกกังวล): สุนัขอาจแสดงอาการวิตกกังวลมากขึ้น เช่น การเห่าหรือหลบซ่อนตัว
อาการที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ การนอนมากขึ้นในตอนกลางวัน และตื่นมาทำตัวกระวนกระวายในตอนกลางคืน ซึ่งมักจะมีภาวะวิตกกังวลร่วมด้วย
การให้เจ้าของสัตว์ทำชุดคำถาม CADES (Canine Dementia Scale) เพื่อรวบรวมคะแนน อาจช่วยในการวินิจฉัย ติดตามผลและพยากรณ์อาการได้
การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมในสุนัข
การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมในสุนัขเริ่มต้นจากการซักประวัติและตรวจร่างกาย การตรวจระบบประสาท การตรวจเลือด และการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสาเหตุของอาการผิดปกติอื่นๆ การทำ MRI สามารถช่วยในการตรวจหาสภาวะสมองอื่นๆ เช่น เนื้องอกในสมอง, หลอดเลือดในสมอง, หรือสมองอักเสบ และในบางกรณี การทำ MRI อาจแสดงให้เห็นถึงการฝ่อของเนื้อสมอง

(Photo credit: Curtis Wells Dewey, 2019)
การรักษาภาวะสมองเสื่อมในสุนัข
การรักษาภาวะสมองเสื่อมในสุนัขจะได้ผลดีกว่าถ้าเริ่มรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม ฉะนั้นส่วนสำคัญที่สุดคือการสังเกตอาการที่บ้าน โภชนบำบัดที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ และ กรดไขมันชนิด MCT (Medium-chain triglycerides) อาจช่วยในการรักษาได้ โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับการทำ Environmental Enrichment เช่น การออกกำลังกาย การหมุนเวียนของเล่น การฝึกสมองด้วยเกมหรือปริศนา และการฝึกคำสั่งต่างๆ เพื่อกระตุ้นความคิด
การรักษาตามอาการ เช่น การจัดการอาการวิตกกังวล หรืออาการเจ็บปวดเรื้อรัง สามารถช่วยบรรเทาอาการบางประการของสุนัขที่มีภาวะสมองเสื่อม
ภาวะสมองเสื่อมในสุนัข (Cognitive Dysfunction Syndrome) เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับสุนัขที่มีอายุมาก ทำให้พฤติกรรมของสุนัขเปลี่ยนเเปลงไป หากเจ้าของสามารถสังเกตเห็นอาการในระยะแรกและทำการรักษาอย่างทันท่วงที จะสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคและรักษาคุณภาพชีวิตของสุนัขได้มากขึ้น ดังนั้น การดูแลและสังเกตอาการของสุนัขอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการรับมือกับภาวะสมองเสื่อมนี้