การดูแลสัตว์เลี้ยงสูงวัย
ยังจำตอนที่น้องหมาน้องแมวของคุณยังเด็ก น่ารัก ซนที่สุดในบ้านได้ไหม ตอนนั้นพวกเค้ายังออกไปวิ่งเล่น ออกไปผจญภัยกับเจ้าของได้ทุกเวลา แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไปเจ้าสัตว์เลี้ยงที่น่ารักของพวกเราก็เริ่มเข้าสู่วัยชรา
เมื่อแก่ตัวลงเราอาจจะเห็นว่าพวกเค้าเริ่มถดถอยในหลายๆ อย่าง เช่น เริ่มมีการเดินการวิ่งที่ช้าลง มีปัญหาในการได้ยินหรือการมองเห็นที่แย่ลง ตอบสนองช้าเมื่อได้รับคำสั่ง รวมทั้งมีระยะเวลาการนอนหลับที่ยาวนานมากขึ้น
สุนัขและแมวสูงวัยคิดเป็น 44% ของประชากรสัตว์เลี้ยงทั้งหมด ในสุนัข Canine Life Stage Guidelines ปี 2019 บอกไว้ว่า สูงวัย หมายถึงเมื่อสุนัขเดินทางมาถึงช่วงอายุ 25% สุดท้ายของชีวิต
และสุนัขมีความแตกต่างของขนาดและสายพันธุ์ทำให้การเข้าสู่ช่วงสูงวัยมีความแตกต่างกัน แต่โดยปกติแล้วเราจะนับว่าสุนัขเข้าสู่ช่วงสูงวัยได้ตั้งแต่อายุ 6-7 ปี โดยเฉลี่ย ส่วนในแมว American Association of Feline Practitioners (AAFP) ปี 2021 บอกไว้ว่าแมวอายุเกิน 10 ปีขึ้นไปถือว่าเริ่มสูงวัย และเมื่ออายุมากกว่า 15 ปี จัดเป็นช่วงวัยชรา
เมื่อสัตว์เลี้ยงสูงวัยมากขึ้น อวัยวะต่างๆ เริ่มเสื่อมถอย และทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ง่าย เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร โรคกระดูกและข้อ โรคตา รวมไปถึงโรคทางระบบประสาทเป็นต้น บทความนี้หมอจะขอยกตัวอย่าง 5 โรคที่เกิดจากความเสื่อมของสัตว์เลี้ยงสูงวัยที่เจอได้บ่อย เพื่อให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกท่านได้รู้จัก เพื่อเข้าใจถึงลักษณะความเสื่อมของโรคที่เปลี่ยนไปที่ต้องสังเกต
1.โรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคที่เกิดจากความเสื่อมของหัวใจ สามารถพบได้ค่อนข้างมากในสัตว์สูงอายุ ความผิดปกติของหัวใจที่พบได้มากของสุนัขสูงอายุคือโรคลิ้นหัวใจเสื่อม และโรคหัวใจโต ส่วนในแมวมักเจอโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวมากกว่าปกติ โดยแมวทุกชนิดมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ ในแมวบางสายพันธุ์ เช่น เปอร์เซีย, เมนคูน, แร็กดอลล์ โรคนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจทำงานแย่ลง ทำให้ความสามารถที่จะส่งเลือดออกจากหัวใจทำได้แย่ลง มีผลทำให้เนื้อเยื่อปลายทางไม่ได้รับเลือดและอ็อกซิเจนที่เพียงพอ ส่งผลทำให้อวัยวะอื่นๆ เกิดความเสียหายตามมา หรือแม้กระทั่งเกิดพังผืดขึ้นที่กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้การส่งสัญญาณประสาทในหัวใจทำได้ไม่ดี เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมาเป็นต้น ส่งผลให้เกิดอาการที่พบได้ เช่น หอบ เหนื่อยง่าย ไม่สามารถออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมหนักๆ ได้ อาจจะเป็นลม ร่วมกับบางตัวแสดงอาการไอ เมื่อพาไปหาสัตวแพทย์คุณหมออาจจะทำการตรวจวัดความดันร่างกาย ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) และอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram) เพื่อประเมินการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และลิ้นหัวใจได้อย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าโรคหัวใจในสุนัขและโรคหัวใจในแมวจะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การจัดการดูแลที่เหมาะสมจะช่วยให้สัตว์ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอายุยืนยาวขึ้นได้ ทั้งนี้ AAHA Seniors Care Guidelines ปี 2023 แนะนำให้ สุนัขสูงวัย ควรทำการตรวจวัดความดันร่างกายเป็นประจำอย่างน้อยทุกๆ 1 ปี สุนัขสูงวัยสายพันธุ์เสี่ยงเช่น boxer และ Doberman ควรตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทุกๆ 1 ปี และใน แมวสูงวัย ควรทำการตรวจวัดความดันร่างกายทุกๆ 6-12 เดือน
2. โรคไต
โรคไตวายเรื้อรังมักพบในสัตว์สูงวัย ไตทำหน้าที่กำจัดของเสียและรักษาสมดุลในร่างกาย เมื่ออายุมากขึ้น ไตไม่สามารถทำงานได้ปกติ ทำให้เกิดการสะสมของของเสียในร่างกาย ส่งผลให้ไตวายตามมาได้ อาการทางคลินิกของไตวายเรื้อรังที่เจอได้บ่อย คือ กระหายน้ำมากขึ้น (polydipsia) และปัสสาวะบ่อยขึ้น (polyuria)อาการอื่นๆ ที่พบได้แก่ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน (nocturia) น้ำหนักลดลง, อาเจียน, เบื่ออาหาร, อ่อนแรง, ขนร่วง, เหงือกซีด, ท้องเสีย, อุจจาระสีดำเหนียวเหมือนน้ำมันดิน, มีแผลในช่องปาก และมีกลิ่นปากแรง การตรวจเจอโรคไตตั้งแต่ระยะแรกๆ สามารถเพิ่มโอกาสให้สัตว์เลี้ยงของคุณมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพที่ดีได้ AAHA Seniors Care Guidelines ปี 2023 แนะนำให้ทำการตรวจเลือด Complete blood count (CBC) เป็นการนับ corpuscles ในเลือด ซึ่งได้แก่เม็ดเลือด แดง (RBC) เม็ดเลือดขาว (WBC) และ platelets, ตรวจ Blood chemistry หรือค่าเคมีของเลือด และตรวจปัสสาวะ ทุกๆ 6-12 เดือนในสุนัขและแมวสูงวัย
3. โรคข้ออักเสบ
เมื่อเวลาผ่านไปสัตว์เลี้ยงสูงวัยของคุณอาจประสบกับปัญหากระดูกเปราะบางมากขึ้น หรือมีมวลกล้ามเนื้อที่เริ่มลดลง โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดข้อที่พบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยงสูงวัย อาการต่างๆ ที่พบได้แก่ เดินกะเผลก ไม่ชอบขึ้นบันได ยืนหรือเดินลำบาก แสดงความเจ็บปวดเมื่ออุ้มขึ้นมา แสดงอาการเลียบริเวณข้อที่ปวดบ่อย หรือบางตัวเริ่มแสดงอาการหงุดหงิดง่าย เมื่ออายุมากขึ้นจะพบว่ากระดูกจะสูญเสียแร่ธาตุ โดยเฉพาะแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น แคลเซียมและฟอสฟอรัส รวมถึงกระดูกอ่อนที่ปกป้องกระดูกบริเวณข้อต่อก็จะเสื่อมลง และอาการของโรคข้ออักเสบก็จะลุกลามมากขึ้นไปตามกาลเวลา แม้ว่าจะไม่มีวิธีรักษาโรคข้ออักเสบ แต่การให้ยาตามดุลยพินิจของสัตวแพทย์หรือการดูแลด้านโภชนาการที่เหมาะสมก็สามารถลดอาการปวดและชะลอการลุกลามได้
4. โรคทางทันตกรรม
สุนัขและแมวสูงวัยต้องการการดูแลฟันที่เหมาะสมเพื่อรักษาสุขภาพช่องปากที่ดี และป้องกันความเจ็บปวดที่เกิดได้จากโรคฟัน คุณอาจสังเกตเห็นว่าสัตว์เลี้ยงของคุณ น้ำลายไหลมากเกินไป เริ่มมีกลิ่นปาก เหงือกอักเสบ หรือฟันโยกหรือฟันหลุด โรคฟันสามารถนำไปสู่ภาวะเบื่ออาหาร ไม่อยากกินอาหาร น้ำหนักตัวลดลง เกิดการติดเชื้อในระบบร่างกาย ก่อให้เกิดโรคหัวใจ หรือโรคไตได้ในที่สุด ดังนั้นคุณควรพาพวกเค้าไปตรวจสุขภาพช่องปากกับสัตวแพทย์เป็นประจำ ทั้งนี้เจ้าของสามารถให้การดูแลช่องปากที่เหมาะสมได้เช่น การแปรงฟันโดยใช้ยาสีฟันสูตรพิเศษสำหรับสุนัขหรือแมว รวมถึงแปรงสีฟันสำหรับสัตว์เลี้ยงที่มีลักษณะเหมือนแปรงสีฟันของมนุษย์ที่มีขนแปรงและด้ามจับ หรือแปรงสีฟันสำหรับสุนัขและแมวที่สวมนิ้วได้ ของเล่นที่กัด แทะ เคี้ยวได้ มีประโยชน์ช่วยขจัดคราบพลัคและหินปูนออกจากฟัน ของเล่นแบบเคี้ยวยังช่วยนวดเหงือกเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและช่วยให้เหงือกและฟันแนบสนิทกัน เพื่อช่วยให้ฟันของสัตว์เลี้ยงของคุณสะอาดและมีสุขภาพดี
5. โรคต้อกระจก
โรคเกี่ยวกับตาที่พบได้บ่อยในสุนัขสูงวัยคือโรคต้อกระจก เมื่อเลนส์ตาขุ่นมัว เกิดฝ้าขาวๆ ที่เลนส์ตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด อาการที่พบ เช่น เดินชนสิ่งของ หรือเดินแล้วชะงักโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ เห่าสิ่งของในระยะที่ไม่เคยรู้สึกรำคาญมาก่อน สิ่งนี้อาจชัดเจนมากขึ้นเมื่อพวกเค้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย การรักษาโรคต้อกระจกสามารถทำให้สัตว์เลี้ยงของคุณกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง ซึ่งการรักษาสามารถทำได้โดยการผ่าตัดแก้ไข แต่ต้องได้รับการประเมินและวินิจฉัยทางสัตวแพทย์เฉพาะทางด้านโรคตาก่อน หากพบว่าสุนัขเริ่มแสดงอาการมองไม่เห็น เช่น เดินชน หรือพบดวงตาเริ่มขุ่นมีฝ้าขาว ให้รีบพามาพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจตาทันทีเพราะยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ สุนัขก็ยิ่งมีโอกาสกลับมามองเห็นเหมือนเดิมมากขึ้นเท่านั้น
ถึงแม้ว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกคนต้องการให้สัตว์เลี้ยงของเรามีชีวิตยืนยาวตลอดไป แต่การเข้าสู่ช่วงอายุ "สูงอายุ" แล้วนั้นยิ่งเป็นเครื่องเตือนใจว่าสิ่งสำคัญ คือ การให้สิ่งที่ดีที่สุดกับพวกเค้า และใช้เวลาที่มีร่วมกันระหว่างเราและสัตว์เลี้ยงสูงวัยในตอนนี้อย่างดีที่สุด
สพ.ญ.ชุตินันท์ สุวรรณสิงห์
สัตวแพทย์ประจำแผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์
เอกสารอ้างอิง
Kate E. Creevy, et al.2019.2019 AAHA Canine Life Stage Guidelines.Journal of the American Animal Hospital Association, 55(6), P.267-290.