สัตว์เลี้ยงกินสิ่งแปลกปลอมควรทำอย่างไรก่อนมาหาหมอ - Arak Animal Hospital

สัตว์เลี้ยงกินสิ่งแปลกปลอมควรทำอย่างไรก่อนมาหาหมอ

ผู้เขียน : สพ.ญ. พิมฤดี เรศานนท์

สัตว์เลี้ยงกินสิ่งแปลกปลอมควรทำอะไรเบื้องต้นก่อนมาหาหมอ

 

อะไรที่เป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับสัตว์เลี้ยง

         สิ่งแปลกปลอม (foreign body) ในทางเดินอาหารของสัตว์เลี้ยงสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่สัตว์เลี้ยงกินเข้าไปโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดผลตามมาที่ร้ายแรงต่อสัตว์เลี้ยงได้ เช่น หากเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เป็นพิษต่อสัตว์ จะทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหาร ทางเดินอาหารอุดตัน แตก และอาจรุนแรงจนทำให้สัตว์เสียชีวิตได้ โดยปกติสุนัขจะมีความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมสูง และมักจะชอบดมหรือกินสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่มีขนาดเล็ก หรือสามารถกลืนได้ ต่างกับแมวที่มักจะมีความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสุนัข แต่ในแมวก็สามารถพบการกินสิ่งแปลกปลอมได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสิ่งแปลกปลอมที่มีลักษณะเป็นเส้นยาว เชือก เข็ม สายต่างๆ โดยสิ่งแปลกปลอมที่มักจะพบบ่อยในสัตว์เลี้ยงได้แก่ ถุงเท้า เศษผ้า กระดูก ของเล่น เศษขนม/ลูกอม เมล็ดผลไม้ ก้อนหิน ไม้เสียบลูกชิ้น ฯลฯ

 

สังเกตอย่างไรว่าสัตว์เลี้ยงกินสิ่งแปลกปลอม

         สัตว์เลี้ยงจะแสดงอาการแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่พบสิ่งแปลกปลอม หรือในบางรายอาจไม่ได้แสดงอาการในทันที โดยสามารถพบอาการได้ดังนี้

  1. อาเจียนหลายรอบต่อวัน
  2. พยายามขย้อนบางอย่างออกมา
  3. ท้องเสีย หรือไม่มีอุจจาระ
  4. ไม่อยากอาหาร หรือทานอาหารเข้าไปแล้วอาเจียนออกมา
  5. ปวดเกร็ง/ไม่สบายท้อง
  6. ซึม อ่อนแรง
  7. มีไข้
    นอกเหนือจากอาการต่างๆที่สัตว์เลี้ยงมักจะแสดงออกมาแล้ว เจ้าของยังสามารถสังเกตได้จากการที่สิ่งของในบ้านบางอย่างหายไป หรือของเล่นหายไปบางส่วน

 

เจ้าของควรทำอย่างไรหากสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงกินสิ่งแปลกปลอม

  • รีบพาสัตว์เลี้ยงไปโรงพยาบาล และแจ้งสัตวแพทย์เกี่ยวกับสิ่งแปลกปลอมที่สงสัยว่าสัตว์เลี้ยงกินเข้าไป ทั้งลักษณะ รูปร่าง ขนาด ความยาว เบื้องต้น และระยะเวลาที่กินสิ่งแปลกปลอม เพื่อทำการวินิจฉัยเพิ่มเติม
  • ไม่ควรพยายามทำให้สัตว์อาเจียน หรือนำสิ่งแปลกปลอมออกมาด้วยตนเอง เนื่องจากสิ่งแปลกปลอมบางชนิดมีลักษณะแหลมคม หรือเป็นสารเคมีบางอย่างที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือทะลุของทางเดินอาหารมากขึ้นระหว่างที่อาเจียน หรือพยายามดึงออกมา


วิธีการป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงกินสิ่งแปลกปลอม

  1. จัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการเลี้ยงสัตว์ เช่นการจัดวางสิ่งของต่างๆที่คาดว่าสัตว์เลี้ยงอาจกินเข้าไปไว้ในบริเวณที่สัตว์เลี้ยงไม่สามารถเข้าถึงได้ 
  2.  ควรเลือกของเล่นให้เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงแต่ละตัว โดยของเล่นควรเลือกให้เหมาะกับขนาดและความแข็งแรงในการเคี้ยวของสัตว์เลี้ยง ควรเป็นของเล่นที่ทนต่อการกัด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะแตกแล้วสัตว์เลี้ยงกินเข้าไป
  3. เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรเฝ้าระวังและสังเกตสัตว์เลี้ยงอยู่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่มีประวัติชอบกินสิ่งแปลกปลอม เวลาที่พาสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น หรือเวลาเล่นกับของเล่นที่บ้าน ว่าสัตว์เลี้ยงมีการกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปหรือไม่
  4. ทำการสำรวจสภาพแวดล้อมภายในบ้าน ว่ามีสิ่งของภายในบ้าน หรือของเล่นชิ้นไหนที่หายไป หรือหายไปบางส่วนหรือไม่
  5.  ทำการฝึกสัตว์เลี้ยงเบื้องต้น เพื่อให้สัตว์เลี้ยงเรียนรู้ที่จะเชื่อฟังคำสั่ง และลดความเสี่ยงที่จะกินสิ่งแปลกปลอม 
  6. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของกระดูก เนื่องจากเศษกระดูกจะมีส่วนที่แหลมคมทำให้ระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร และหากกินเข้าไปในปริมาณมากสามารถอุดตันทางเดินอาหารได้
  7. เลือกอาหารที่เหมาะสมตามช่วงวัย และสายพันธุ์ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้รับโภชนาการที่ครบถ้วน ช่วยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการกินสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ใช่อาหารได้


วิธีการวินิจฉัยและรักษาเมื่อสัตว์เลี้ยงกินสิ่งเเปลกปลอม

      การวินิจฉัยสามารถทำได้ทั้งการซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้น เอกซเรย์ช่องท้อง อัลตราซาวน์ และการกลืนสารทึบรังสี 
      การรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสิ่งแปลกปลอม ขนาดและลักษณะของสิ่งแปลกปลอม เช่น ถ้าเกิดการอุดตันขึ้นบริเวณหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ส่วนมากสามารถนำออกได้ด้วยการส่องกล้อง (endoscope) แต่ในบางกรณีที่สิ่งแปลกปลอมมีขนาดใหญ่เกินไป หรือมีบางส่วนอยู่ในลำไส้ อาจไม่สามารถนำสิ่งแปลกปลอมออกด้วยวิธีการส่องกล้องได้ และต้องใช้วิธีการผ่าตัดเปิดลำไส้แทน 

       ในบางกรณีที่สัตว์เลี้ยงกินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปไม่เกิน 3 ชั่วโมง และสัตวแพทย์พิจารณาแล้วว่าสิ่งแปลกปลอมที่กินเข้าไปจะไม่ทำลายทางเดินอาหาร หรือมีลักษณะที่ยืนหยุ่น เช่น ผ้า ถุงเท้า ก็สามารถให้ยาเพื่อกระตุ้นการอาเจียนได้ และในบางกรณีที่สัตว์เลี้ยงกินสิ่งแปลกปลอมที่มีขนาดเล็ก ไม่มีสารอันตราย และไม่ได้มีอาการรุนแรงก็สามารถสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และรอให้สัตว์ขับถ่ายออกมาเองได้ โดยหากเจ้าของรีบพาสัตว์เลี้ยงมาพบสัตวแพทย์โดยทันทีก็จะช่วยให้สามารถแก้ไข และนำสิ่งแปลกปลอมออกมาได้โดยลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น และความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาอื่นๆได้

 

สอบถามเพิ่มเติม และนัดหมาย

แชร์

Copyright © 2023 Arak Animal Hospital | All Rights Reserved