สุนัขตาขุ่น รักษาอย่างไร เป็นโรคต้อใช่หรือไม่
สุนัขตาขุ่น รักษาอย่างไร เป็นโรคต้อใช่หรือไม่
ลูกๆ สี่ขาบ้านไหนมีอาการตาขุ่น ตาเป็นฝ้าขาวบ้างคะ อาการแบบนี้เป็นได้ทั้งน้องแมวและน้องหมาเลยนะคะ ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องแก่ก็สามารถมีอาการนี้ได้ ซึ่งอาการที่เห็นนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ และหลายตำแหน่งในดวงตา ซึ่งถ้าหากต้องการจะทราบว่าเกิดจากอะไร และเกิดขึ้นที่ส่วนไหนของลูกตาก็จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องตา ถึงจะทราบสาเหตุและวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้องค่ะ และในบทความนี้โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์จะพาไปรู้จักตำแหน่งต่างๆ ของดวงตาที่จะสามารถทำให้เกิดอาการตาขุ่นได้ รวมถึงทำความรู้จักโรคต้อ โรคที่เป็นอุปสรรคต่อการมองเห็นของสัตว์เลี้ยงที่เรารักกันค่ะ
อาการตาขุ่นที่เราสังเกตเห็นนั้น ตำแหน่งที่ทำให้เห็นว่าขุ่น เกิดได้จาก 3 ตำแหน่ง ดังนี้
1. กระจกตา
สาเหตุที่พบกระจกตาขุ่น
- ภาวะการอักเสบที่ตาหรือภายในร่างกาย
- การสะสมของแคลเซียมหรือไขมันที่ผิดปกติที่กระจกตา
- โครงสร้างของกระจกตาผิดปกติจากแผลที่กระตา ต้อหิน หรือโดยกำเนิด จึงเกิดการบวมน้ำ
- การระคายเคืองที่กระจกตา
2. ช่องหน้าม่านตา
สาเหตุที่พบช่องหน้าม่านตาขุ่น
- ภาวะการอักเสบที่ตาหรือติดเชื้อภายในร่างกาย
- โรคฮอร์โมนและต่อมไร้ท่อ เช่น ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน (hypothyroidism), เบาหวาน (diabetes mellitus) หรือ ภาวะต่อมหมวกไตทำงานมากกว่าปกติ (Cushing's disease หรือhyperadrenocorticism)
3. เลนส์ตาหรือแก้วตา
สาเหตุที่พบแก้วตาขุ่น
- การเปลี่ยนแปลงตามวัย
- ต้อกระจก
ดังนั้นคำถามที่ว่า "ตาขุ่น" คือ "โรคต้อ" ใช่หรือไม่คำตอบคือ อาจจะใช่ หรืออาจจะไม่ใช่ก็ได้ค่ะ ซึ่งจะทราบได้จากขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยดังนี้
- ส่องตรวจโครงสร้างโดยรวมของตา
- ทดสอบปฏิกริยาตอบสนองของตา และการมองเห็น
- วัดความดันตา
- หยอดตาเพื่อขยายม่านตา เพื่อให้เห็นสภาพของเลนส์ทั้งหมด (รอให้ม่านตาขยายประมาณ 15 นาที)
และถ้าหากวินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นโรคต้อ เรามาทำความรู้จักกันก่อนนะคะว่า “ต้อ” นั้นแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
- ต้อกระจก (Cataract)
- ต้อหิน ( Glaucoma)
ต้อกระจก คืออะไร
Cataract หรือ ต้อกระจก เกิดจากโปรตีนในเลนส์เปลี่ยนสภาพจนทึบเหมือนกำแพง เมื่อหมอใช้กล้องส่องตรวจเราจะพบว่าแสงไม่สามารถทะลุผ่านไปถึงจอรับภาพ มองไม่เห็นจอรับภาพ และไม่เห็นแสงสะท้อนกลับมาด้วย ในกลุ่มนี้จะมีหลายระยะนะคะตั้งแต่เริ่มแรก ไปจนถึงระยะที่มองไม่เห็นแล้ว เดินชน ซึ่งเวลาหมอตรวจ สงสารทั้งเจ้าของและสุนัข เพราะเจ้าของต้องมานั่งเห็นลูกของตัวเองมองไม่เห็นทั้งสงสารอยากจะช่วยเหลือเค้า สงสารสุนัขที่คุณภาพชีวิตลดลง วิ่งเล่นไม่ได้ เดินไปทานอาหารก็เดินไปไม่ถูก
โรคนี้ไม่จำเป็นต้องตามอายุ อาจจะเป็นตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งเป็นตามสายพันธุ์เช่น ลาบราดอร์ ชิห์สุ ชเนาว์เซอร์ หรือเป็นตามพันธุกรรมตามพ่อ แม่ ปู่ย่า ตายายได้
ถ้าเป็นระยะที่มีปัญหาในการดำเนินชีวิต แนะนำให้ผ่าตัดสลายต้อกระจก สำหรับโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ใช้เทคนิคเดียวกับในคน ที่เรียกว่า Phacoemulsification แผลเล็กแค่ 3 มิลลิเมตร ใช้เวลาเพียงข้างละประมาณ 20 นาที อัตราประสบความสำเร็จอยู่ที่ 95% อีก 5% คือกรณีที่ปล่อยไว้นานจนทำให้การผ่าตัดยากมากจนเกินไป หรือสุนัขดื้อมากไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการหยอดตา ป้อนตาหลังผ่าตัด แต่ปัจจุบันเราก็มักจะให้ยาซึมเพื่อลดปัญหาตรงนี้
ต้อหิน คืออะไร
Glaucoma หรือ ต้อหิน คือการระบายที่น้ำในลูกตาระบายไม่สะดวก อาจเกิดจากการตีบแคบของโครงสร้างของการระบายน้ำในลูกตา หรือมีกระบวนการอักเสบจนทำมีเซลล์การอักเสบไปอุดตัน การระบายน้ำในลูกตาก็แย่ลงตามไปด้วย นึกภาพเราเปิดน้ำลงไปในลูกโป่งจนลูกโป่งขยายออกไปเรื่อยๆ ตาสุนัขที่ระบายน้ำในลูกตาไม่ได้ก็จะขยายใหญ่มากขึ้น ดูปูดขึ้นมา ถ้าคลำดูก็รู้สึกแข็งเหมือนหินเลย
สุนัขสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต้อหินได้แก่ Siberian husky, Shiba, Cocker ทั้ง American และ English, Beagle และกลุ่ม Terrier ทั้งหมด เพราะฉะนั้นสุนัขในกลุ่มนี้ควรได้รับการตรวจตาและวัดความดันตา
ปกติความดันตาอยู่ในเกณฑ์ 12-20 mmHg ถ้าเราเจอว่าความดันตาเริ่มสูงแตะขอบบนเราจะได้เริ่มให้ยาป้องกันได้ หรือถ้าความดันเกินค่าปกติต้องรีบทำการรักษาเพื่อลดความดันให้กลับมาปกติ เพราะเวลาความดันตาที่สูงเกิน 30 mmHg ต่อเนื่องเกิน 24 ชั่วโมงอาจทำให้เส้นประสาทที่อยู่ที่จอประสาทตาโดนกดจนจม ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานจะส่งผลให้ไม่สามารถคืนกลับสภาพมาได้ ทำให้ตาบอดถาวร ดังนั้นต้อหินเป็นภัยเงียบที่น่ากลัวกว่าต้อกระจก โรคนี้เจอเร็วได้เปรียบ
การตรวจวินิจฉัยต้อหินโดยเฉพาะ คือ
- การวัดความดันตา สุนัขที่มีความเสี่ยงตามสายพันธุ์ควรวัดทุกๆ 3 เดือนนะคะ และสำหรับสุนัขทั่วไปควรวัดปีละ 2 ครั้งค่ะ
- การตรวจจอประสาท เพื่อดูสภาพโครงสร้างของเส้นประสาท
- การตรวจมุมการระบายน้ำในลูกตาโดยการใช้เลนส์พิเศษ เพื่อดูว่าเลนส์ปิด หรือแคบกว่าปกติหรือไม่
การรักษาโรคต้อหิน
- ยาหยอดตาเพื่อป้องกัน หรือเพื่อรักษา
- ใช้ laser ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ เพื่อลดการสร้างน้ำลูกตา