.png)
โรคระบบประสาทในสัตว์เลี้ยง โรคที่ไกลตัว? หรือเราแค่มองไม่เห็น
โรคระบบประสาทในสัตว์เลี้ยง โรคที่ไกลตัว? หรือเราแค่มองไม่เห็น
ถ้าพูดถึงความผิดปกติของระบบประสาท หลายๆท่านคงนึกถึงอาการ “ชัก” หรือ “อัมพาต” เนื่องจากเป็นภาวะที่เราคุ้นหูหรือเคยผ่านตากันมาแล้วบ้าง และมองว่าอาการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ “ไกลตัว” เป็นความผิดปกติที่พบได้น้อยและจัดการได้ยาก แต่รู้หรือไม่ว่า โรคทางระบบประสาท ไม่ใช่แค่ชักหรืออัมพาต แต่เป็นโรคที่กว้างและเป็นระบบที่คอยอยู่เบื้องหลังการทำงานของร่างกายแทบทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็น ระบบไหลเวียนโลหิต ปอด หัวใจ ฮอร์โมน ไต ตับ ตา หู คอ จมูก ทางเดินอาหาร หรือแม้แต่ระบบผิวหนัง ฉะนั้นโรคของระบบประสาทจึงมีเยอะมากๆ ซึ่งหลายครั้งเจ้าของอาจจะไม่ทราบ เนื่องจากสุนัขและแมวแสดงอาการคลุมเครือ ที่เหมือนกับเป็นโรคจากระบบอื่น เช่น มีอาการหอบ ทำให้คิดว่าเป็นปัญหาของระบบทางเดินหายใจ แต่แท้จริงแล้วอาจจะเป็นอาการที่บ่งบอกถึงความเจ็บปวดที่เกิดจากระบบประสาทก็เป็นได้
ดังนั้นในการตรวจรักษาโรคทางระบบประสาทจึงต้องมีการวางแผนการวินิจฉัยอย่างเป็นระบบ step-by-step เพื่อให้การวินิจฉัยไม่ผิดพลาด และนำไปสู่การรักษาอย่างตรงจุด ที่สำคัญโรคทางระบบประสาทหลากหลายโรคยังเป็นโรคที่มีกรอบเวลาของการรักษา ถ้ารักษาเร็วเท่าไรก็จะเป็นผลดีต่อตัวสัตว์ ในทางกลับกันถ้าวินิจฉัยล่าช้าและได้รับการรักษาไม่ทันท่วงทีก็อาจสายเกินแก้ได้ ตัวอย่างเช่น โรคสมองอักเสบ ที่ทำให้สมองบางส่วนสูญเสียการทำงาน หากวินิจฉัยและรักษาล่าช้าก็อาจจะไม่สามารถย้อนกลับมาได้ดีเท่าเดิม หรืออย่างเคสกระดูกสันหลังหัก ก็ควรได้รับการรักษาหรือผ่าตัดแก้ไขอย่างเร็วที่สุด หากปล่อยไว้หลายวันอาจทำให้เป็นอัมพาตถาวร เพราะฉะนั้นหากได้พบสัตวแพทย์ระบบประสาทได้เร็ว วินิจฉัยและเริ่มการรักษาได้ในช่วงเวลาทองของการฟื้นฟู หรือ Golden period ก็จะส่งผลดีกับสัตว์ป่วยมากที่สุด
การตรวจระบบประสาทในสัตว์เลี้ยง
เจ้าของหลายคนอาจจะสงสัยว่าเมื่อพาน้องหมาน้องแมว มาพบสัตวแพทย์ด้านระบบประสาทและกระดูกสันหลัง หมอมีวิธีการตรวจร่างกายอย่างไรบ้าง นอกจากการซักประวัติโดยละเอียดแล้ว เมื่อน้องหมาน้องแมวเดินเข้ามาในห้องตรวจ สิ่งที่หมอต้องทำในทุกๆครั้งก็คือ
- การตรวจการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม (Mental Status Exam)
- การประเมินเส้นประสาทสมอง (Cranial Nerve Assessment)
- การทดสอบรีเฟล็กซ์ (Reflex Testing)
- การประเมินการสั่งการของระบบประสาท (Motor system Assessment)
- การประเมินการรับรู้ของระบบประสาท (Sensory system assessment)
โดยทั้งหมดที่กล่าวมาด้านบน สามารถทำได้ทันทีในห้องตรวจ เพื่อหาตำแหน่งที่สงสัยว่าเกิดความผิดปกติว่าอยู่ส่วนไหน เป็นที่สมอง ไขสันหลัง หรือ เส้นประสาทตามร่างกาย และเมื่อทราบตำแหน่งแล้ว เราก็จะอาศัยเครื่องมือเข้ามาช่วยหาสาเหตุของความผิดปกตินั้นๆ ทั้งเครื่องเอกซเรย์ CT-scan และ รวมถึงเครื่อง MRI ที่ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากๆ สำหรับการตรวจสมองและไขสันหลัง
โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ มีเครื่อง MRI 1.5 tesla แบบ high-field MRI ที่จะให้ภาพที่มีความละเอียดสูง เหมาะสำหรับการใช้วินิจฉัยรอยโรคทางระบบประสาท ที่ถึงแม้เป็นเพียงรอยโรคเล็ก ๆ ก็อาจมีผลต่อคุณภาพชีวิตของสัตว์ได้ และยังมีระบบ AI ที่ช่วยย่นระยะเวลาการวินิจฉัยลงไปถึง 30 นาที ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสำคัญของ MRI เครื่องนี้ ส่งผลให้ระยะเวลาการวางยาสลบของสัตว์ลดลงไปด้วย จึงเพิ่มความปลอดภัยให้กับสัตว์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ด้วยตำแหน่งของห้อง CT scan และ MRI สามารถเปิดเข้าสู่ห้องเตรียมสัตว์ก่อนเข้าผ่าตัดได้เลย ดังนั้นหากทำการตรวจภาพรังสีและพบความผิดปกติที่จำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไข ก็สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ทันที ไม่จำเป็นต้องวางยาสลบหลายครั้ง ทำให้เราสามารถรักษาช่วง Golden period ให้ได้มีประสิทธิภาพดีที่สุด