Feline Plasma cell Pododermatitis หรือ Pillow foot คือโรคที่มักจะทำให้น้องแมวมีอาการผิวหนังที่ฝ่าเท้าบวมผิดปกติ - Arak Animal Hospital

Feline Plasma cell Pododermatitis (Pillow foot) โรคหายากที่ทำให้น้องแมวเท้าบวมตุ่ย

ผู้เขียน : น.สพ. วรปรัชญ์ วิชาชัย

เคยเจอไหมครับ อยู่ๆน้องเหมียวที่บ้านอยู่ๆก็มีอาการผิวหนังที่อุ้งเท้า (pad) บวมแดง หรือมีแผลลอกออกมา ทั้งๆที่ก็อยู่แต่ในบ้าน และไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะไปเจอสารเคมี หรือสารพิษที่น่าจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าวได้ บทความนี้จะมาแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่รู้จักกับโรคผิวหนังชนิดหนึ่งในแมวที่มีชื่อว่า Feline Plasma cell Pododermatitis หรือ Pillow foot ครับ

         

Feline Plasma cell Pododermatitis คือโรคที่มักจะทำให้น้องแมวมีอาการผิวหนังที่ฝ่าเท้าบวม ดูฟูๆ มากกว่าปกติ

เมื่อกดไปแล้วให้ความรู้สึกนุ่มนิ่มคล้ายหมอนทำให้โรคนี้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งคือ Pillow foot นั่นเอง ในน้องแมวที่มีอุ้งเท้าสีอ่อนมักจะสังเกตเห็นได้ง่ายว่าสีของอุ้งเท้าดูแดงขึ้น แต่ในกรณีที่น้องแมวมีสีอุ้งเท้าสีเข้มอยู่แล้วก็อาจจะสังเกตได้ยากกว่าเล็กน้อยครับ บางครั้งมักพบว่าอุ้งเท้าเริ่มมีการลอกหลุดของผิวหนัง หรือมีสะเก็ด เมื่อเวลาผ่านไปรอยโรคจะพัฒนาขึ้นจนเกิดเป็นลักษณะของแผลหลุม พบเลือดออกบริเวณแผลได้ ในช่วงเริ่มแรกที่พบว่ามีการบวมของอุ้งเท้า น้องแมวอาจจะยังไม่ได้แสดงอาการผิดปกติให้เห็นนะครับ แต่เมื่อเริ่มมีสะเก็ดหรือแผลก็อาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติได้ เช่น เลียเท้าบ่อยกว่าปกติ เดินกะเผลกหรือแสดงอาการเจ็บบริเวณเท้าข้างที่มีรอยโรค

 

Feline Plasma cell Pododermatitis
Feline Plasma cell Pododermatitis
Feline Plasma cell Pododermatitis
Feline Plasma cell Pododermatitis

          

สาเหตุของโรค Feline Plasma cell Pododermatitis

ในปัจจุบัน เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ก่อให้เกิดโรคนี้ แต่มีแนวโน้มว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ เนื่องจากอาการของโรคมักดีขึ้นและมีการตอบสนองเมื่อมีการให้ยาในกลุ่มยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressive drug) และ/หรือยาปรับภูมิคุ้มกัน (immunomodulatory drug) นั่นเอง และในบางรายงานพบว่าแมวบางตัวมีอาการดีขึ้นหลังจากมีการปรับอาหาร ซึ่งแมวในกลุ่มนั้นมีแนวโน้มว่ามีภาวะภูมิแพ้อาหารร่วมด้วย นอกจากนี้ ยังมีรายงานในต่างประเทศว่ามักพบโรค Feline Plasma cell Pododermatitis ในกลุ่มแมวที่มีการติดเชื้อไว้รัสลิวคีเมีย; feline leukemia virus (FeLV) หรือโรคเอดส์แมว; feline immunodeficiency virus (FIV) ร่วมด้วย

 

การตรวจวินิจฉัย และรักษา โรค Feline Plasma cell Pododermatitis

ในส่วนของการวินิจฉัยในทางสัตวแพทย์นั้น แนะนำให้มีการเก็บชิ้นเนื้อ (biopsy) ร่วมกับการดูรอยโรคเพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัย ส่วนการรักษานั้น ในแมวบางตัวสามารถหายได้เองซึ่งมักเป็นส่วนน้อย หรืออาจจะจำเป็นต้องให้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) เพื่อกดภูมิคุ้มกัน และ/หรือสามารถให้ยาปฏิชีวนะคือ Doxycycline เพื่อหวังผลปรับภูมิคุ้มกัน และในบางรายอาจจะจำเป็นต้องมีการผ่าตัด กรณีที่มีแผลหลุมจำนวนมากนะครับ

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคแน่ชัด จึงมักสามารถกลับมาเป็นใหม่อยู่ได้เรื่อยๆ ดังนั้น จึงอาจจะจำเป็นต้องมีการให้ทานยาในกลุ่มยากดภูมิคุ้มกันที่สามารถให้ในระยะยาวได้ไปตลอดเพื่อคุมอาการ หรือจำเป็นต้องมีการจัดการด้านอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น สิ่งแวดล้อม อาหาร การตรวจคัดกรองโรคที่อาจเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดภาวะผิดปกติทางภูมิคุ้มกันได้ครับ

สอบถามเพิ่มเติม และนัดหมาย

แชร์
99 ซอยสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2023 Arak Animal Hospital | All Rights Reserved