9 สัญญาณเริ่มต้นสู่อันตราย ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในสุนัขและแมว - Arak Animal Hospital

9 สัญญาณเริ่มต้นสู่อันตราย ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในสุนัขและแมว

ผู้เขียน : สพ.ญ.หทัยชนก วิณวันก์ (หมอแนน)

โรคหัวใจในสุนัขและแมวมักไม่แสดงอาการชัดเจนในระยะเริ่มต้น กว่าจะรู้เด็ก ๆ สัตว์เลี้ยงก็อาจจะเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน โดยที่คุณพ่อคุณแม่เองไม่รู้ตัวมาก่อน สำหรับบทความนี้หมอจะเล่าถึงสาเหตุของภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในสุนัขและแมว อาการเริ่มต้นที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ รวมถึงแนวทางการป้องกันให้คุณพ่อคุณแม่ฟังกันค่ะ

 

ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในสุนัขและแมวคืออะไร ?

อย่างที่ทราบกันดีค่ะว่าหัวใจมีหน้าที่สูบฉีดโลหิตเพื่อนำพาออกซิเจนและธาตุอาหารไปยังทุกส่วนของร่างกายเช่นเดียวกับในคน ซึ่งหัวใจของสุนัขและแมวเองก็แบ่งออกเป็น 4 ห้อง มี 2 ห้องบน และ 2 ห้องล่างไม่ต่างกัน โดยหัวใจซีกขวามีหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปยังปอดเพื่อรับออกซิเจน ส่วนหัวใจซีกซ้ายมีหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย เมื่อเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ไม่ได้หมายความถึงหัวใจหยุดเต้น แต่คือหัวใจสูญเสียความสามารถในการสูบฉีดโลหิต ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง ไต กล้ามเนื้อต่าง ๆ ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ และทำให้เด็ก ๆ เสียชีวิตได้ค่ะ

 

สาเหตุของภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในสุนัขและแมว

หลัก ๆ แล้วโรคหัวใจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือโรคหัวใจที่มีมาแต่กำเนิด กลุ่มนี้มักจะพบในลูกสัตว์ เป็นความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจ เช่น หลอดเลือดคงค้าง ลิ้นหัวใจตีบ หรือผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว ส่วนอีกประเภทคือโรคหัวใจที่เกิดขึ้นภายหลัง มักเป็นความเสื่อมที่พบในสุนัขและแมวที่มีอายุมากแล้ว เช่น กลุ่มโรคลิ้นหัวใจรั่ว กลุ่มโรคของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือโรคพยาธิหนอนหัวใจซึ่งสามารถพบได้ในสุนัขและแมวทุกวัย ในท้ายที่สุดไม่ช้าก็เร็วภาวะต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันตามมาค่ะ

 

9 สัญญาณเตือนของภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในสุนัขและแมว

  1. ไอแห้ง : ไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ เป็นอาการที่คุณพ่อคุณแม่สามารถตรวจสอบความผิดปกติได้ง่ายที่สุด มักจะแสดงให้เห็นในเวลากลางคืนหรือหลังจากตื่นนอนค่ะ
  2. เหนื่อยง่าย : อีกหนึ่งอาการที่สังเกตได้ง่าย ๆ จากกิจกรรมที่เด็ก ๆ เคยทำค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเดินเล่น ขึ้นลงบันได หรือแม้แต่เล่นกับคุณพ่อคุณแม่เอง จากที่เคยทำได้นานกว่านี้ อาจจะเหลือทำได้ไม่กี่นาทีก็เหนื่อยหอบแล้วค่ะ
  3. หายใจลำบาก : อาจจะพบได้ตั้งแต่อาการหายใจเร็ว หายใจหอบ จนถึงขั้นใช้ช่องท้้องหายใจ หรืออ้าปากหายใจได้ โดยหลัก ๆ เกิดจากภาวะน้ำท่วมปอดจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือในบางรายอาจจะเป็นหนักจนสามารถพบน้ำคั่งภายในเยื่อหุ้มปอดได้ค่ะ
  4. ท้องมานหรือขาบวมน้ำ : สามารถเห็นลักษณะท้องกางจากการมีน้ำในช่องท้อง หรือขาและอุ้งเท้าดูบวมน้ำผิดปกติ เกิดจากที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดโลหิตจากทุกส่วนของร่างกายกลับเข้าหัวใจได้ ทำให้เกิดภาวะน้ำเกินและไปกองรวมบริเวณช่องท้องหรือแขนขา
  5. เยื่อเมือกม่วง : สังเกตได้จากสีเหงือกหรือลิ้น เกิดจากที่ไม่สามารถไหลเวียนออกซิเจนมาเลี้ยงได้เพียงพอจึงพบสีเยื่อเมือกคล้ำขึ้น ไม่เห็นเป็นสีชมพูตามปกติ พบเป็นสีชมพูคล้ำ ๆ หรือสีม่วงค่ะ
  6. นอนหลับยาก : โดยเฉพาะท่านอนตะแคง เนื่องจากจะไม่สามารถหายใจได้เมื่อมีอาการน้ำท่วมปอด หรือบางรายก็ไอทั้งวันทั้งคืนจนไม่สามารถนอนหลับได้นั้นเองค่ะ
  7. เป็นลมหมดสติ : อาจจะพบเด็ก ๆ ล้มหมดสติไประยะเวลาสั้น ๆ แล้วฟื้นเองเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงสมองได้ ส่งผลให้สมองขาดออกซิเจนชั่วคราวค่ะ
  8. ผอมแห้งหนังหุ้มกระดูก : เกิดจากการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เป็นอาการที่พบได้ในระยะสุดท้ายหากน้อง ๆ สุนัขและแมวเป็นโรคหัวใจมาอย่างเรื้อรังยาวนานและค่อนข้างรุนแรงค่ะ
  9. ชีพจรแผ่ว : ในกรณีพบภาวะความดันโลหิตต่ำมาก ๆ มักจะคลำเจอชีพจรแผ่วลงหรือคลำไม่พบชีพจรได้ค่ะ

 

การรักษาภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในสุนัขและแมว

ภาวะหัวใจเฉียบพลัน จัดเป็นภาวะฉุกเฉิน การดูแลรักษาในระยะแรกจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์อย่างใกล้ชิดค่ะ โดยให้ออกซิเจนบำบัดเพื่อประคองให้ร่างกายยังคงได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ร่วมกับการให้การรักษาทางยาเมื่อพ้นภาวะวิกฤติแล้ว ก็ยังมีความจำเป็นต้องได้รับยาต่อเนื่อง ร่วมกับการปรับอาหาร จำกัดปริมาณโซเดียม ไม่ให้ความดันโลหิตสูงมากเกินไป เพื่อให้น้อง ๆ เข้าสู่ภาวะหัวใจวายช้าที่สุด   หรือแม้แต่การตัดสินใจเข้ารับการทำการผ่าตัดแก้ไขสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ การทำบอลลูนถ่างขยายลิ้นหัวใจตีบ หรือการใส่เครื่องมือเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจค่ะ

 

แนวทางการป้องกันภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในสุนัขและแมว

การป้องกันภาวะหัวใจวายเฉียบพลันที่ดีที่สุดคือการหมั่นตรวจเช็คสุขภาพหัวใจตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยสามารถทำได้ทั้งการตรวจฟังเสียงหัวใจ การตรวจเลือดเพื่อดูค่าบ่งชี้ทางชีวภาพของหัวใจ (Cardiac biomarker) การเอกซเรย์ช่องอก การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจเอคโค่ หากพบความผิดปกติแล้วเข้ารับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก น้อง ๆ ก็จะมีชีวิตที่ยืนยาวค่ะ

สุดท้ายคือ อย่าลืมให้ยาป้องกันพยาธิหนอนหัวใจเป็นประจำด้วยนะคะ

สอบถามเพิ่มเติม และนัดหมาย

แชร์
99 ซอยสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2023 Arak Animal Hospital | All Rights Reserved