อาการบอกโรคทางเดินหายใจผิดปกติในสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น
กรน หายใจครืดคราด
อาการบอกโรคทางเดินหายใจผิดปกติในสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น
เจ้าของน้องหมาน้องแมวที่เลี้ยงสายพันธุ์ที่มีโครงหน้าสั้น เช่น อิงลิช บูลด็อก (English bulldog), เฟรนช์ บูลด็อก (French bulldog), ปั๊ก (Pug) และ ปักกิ่ง (Pekingese) หรือ น้องแมวเอ็กซ์โซติก ช็อตแฮร์ (Exotic Shorthair) และ แมวเปอร์เซีย (Persian cat) อาจจะเคยพบอาการหายใจครืดคราด หายใจหอบเสียงดังหลังเล่นหรือออกกำลังกาย นอนกรนคร่อกๆดูสบายสุดๆในตอบหลับ แต่รู้หรือไม่ อาการเหล่านี้อาจบ่งบอกว่าน้องๆมีความผิดปกติของทางเดินหายใจส่วนต้น เรียกว่า โรคทางเดินหายใจผิดปกติในสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น หรือ Brachycephalic Obstructive Airway Syndrome (BOAS) ก็เป็นได้
Brachycephalic Obstructive Airway Syndrome (BOAS) เป็นความผิดปกติของโครงสร้างตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจะทำให้การหายใจเข้าไปยังปอดเป็นไปด้วยความยากลำบาก และสามารถก่อให้เกิดอันตรายจากการขาดออกซิเจนถึงขั้นเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
โครงสร้างที่ผิดปกติในสุนัขเเละเเมวพันธุ์หน้าสั้น
- รูจมูกตีบแคบ (Stenotic nares)
- เพดานอ่อนยาวกว่าปกติ (Elongated soft palate) ยื่นเข้าไปในส่วนท่อทางเดินหายใจ
- การปลิ้นออกมาของเนื้อเยื่อกล่องเสียงด้านล่าง (Everted laryngeal saccules)
หลอดลมตีบแคบ (hypoplastic trachea)
(Photo: Nostril grading system; BASAVA)
อาการที่พบในโรคทางเดินหายใจผิดปกติในสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น
ความผิดปกติเหล่านี้ อาจพบตำแหน่งเดียว หรือ เป็นหลายตำแหน่งก็ได้ ยิ่งมีความผิดปกติของโครงสร้างหลายตำแหน่ง ก็จะยิ่งขัดขวางการเอาอากาศเข้าไปยังปอด น้องหมาน้องแมวก็จะยิ่งมีอาการหายใจเข้าลำบากมากขึ้น โดยอาการที่เจ้าของสามารถสังเกตเห็นได้บ่อยๆ คือ
- น้องหมามีเสียงหายใจดังครืดคราดขณะหายใจเข้า
- นอนกรน
- น้องแมวหายใจเสียงดังฟีดๆ
- อาจมีอาการไอ สำลัก หรือพยายามขย้อนโดยไม่มีอะไรออกมา
- ออกกำลังกายได้ไม่นาน เหนื่อยง่าย
- หากมีอาการมากจนเริ่มขาดออกซิเจนอาจพบลิ้นและเหงือกเปลี่ยนเป็นสีม่วง เป็นลม หมดสติ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้
การรักษาโรคทางเดินหายใจผิดปกติในสุนัขและแมวพันธุ์หน้าสั้น
เนื่องจากเป็นความผิดปกติของโครงสร้างตั้งแต่กำเนิด จึงต้องอาศัยการผ่าตัดศัลยกรรมแก้ไขโครงสร้างที่ผิดปกติไป ในรายที่เป็นรูจมูกตีบแคบ สามารถแก้โดยทำการขยายโพรงจมูกให้กว้างขึ้น ส่วนความผิดปกติของเพดานอ่อนยาวและการปลิ้นออกมาของเนื้อเยื่อกล่องเสียงด้านล่าง ก็สามารถผ่าตัดได้เช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันเรามีเครื่องมือผ่าตัด ที่เรียกว่า “Bipolar vessel sealer หรือ Ligasure” เป็นเครื่องที่ใช้ในการผ่าตัดคน มาใช้ในการตัดเพดานอ่อน สามารถตัดเนื้อเยื่อพร้อมกับห้ามเลือดภายในในตัว จึงทำให้เสียเลือดน้อย ใช้เวลาในการทำได้รวดเร็ว การบวมอักเสบและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดก็ลดน้อยลงไปเช่นกัน
การตรวจวินิจฉัยและผ่าตัดแก้ไขความผิดปกตินี้ ตั้งแต่อายุน้อย จะมีความซับซ้อนน้อยกว่าการแก้ไขตอนอายุมากแล้ว เนื่องจากการอักเสบเรื้อรังของทางเดินหายใจ อาจทำให้เกิดการหนาตัวของแผ่นกระดูกอ่อนของฝาปิดกล่องเสียง ทำให้การฟื้นตัวก็ช้ากว่า ดังนั้นหากเจ้าของพบอาการ กรน หายใจครืดคราด ในน้องหมาน้องแมวพันธุ์หน้าสั้น อย่าลืมนึกถึงโรคนี้ และ พามาพบสัตวแพทย์นะคะ