โรคมะเร็งในสุนัขและแมว รู้เร็ว รักษาได้
โรคมะเร็งในสุนัขและแมว รู้เร็ว รักษาได้
โรคมะเร็งในสุนัข และแมวคืออะไร
โรคมะเร็งเป็นชื่อกลุ่มโรคที่เกิดจากการเจริญผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย ทำให้มีการขยายจำนวนเซลล์อย่างผิดปกติ และ แบ่งตัวลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงและระบบต่างๆของร่างกายจนอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ ซึ่งในปัจจุบันวิทยาการทางสัตวแพทย์ทำให้เราทราบว่าโรคมะเร็งนั้นเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สำคัญในสุนัขและแมว และ ยังพบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน ได้มีการคาดการณ์ไว้คร่าวๆว่า 1 ใน 4 ของประชากรสุนัขและแมวจะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง
โรคมะเร็งสามารถแบ่งประเภทออกตามตำแหน่งที่เกิด และ ชนิดของเซลล์ โดยจะสามารถแบ่งออกคร่าวๆ ได้ดังนี้
- เนื้องอกของระบบผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อน
- เนื้องอกเต้านม
- เนื้องอกระบบสืบพันธุ์
- เนื้องอกของระบบกล้ามเนื้อและโครงร่าง
- เนื้องอกของระบบทางเดินอาหาร
- เนื้องอกของระบบสร้างเม็ดเลือดและน้ำเหลือง
- เนื้องอกของระบบขับถ่ายปัสสาวะ
- เนื้องอกของระบบทางเดินหายใจและช่องทรวงอก
- เนื้องอกของระบบต่อมไร้ท่อ
- เนื้องอกของระบบประสาท
- เนื้องอกของดวงตา
เนื้องอกของระบบผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคมะเร็งที่สามารถเจอได้มากที่สุดสำหรับสุนัข ในประเทศไทย ยกตัวอย่างของโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยเช่น mast cell tumors, basal cell tumors, squamous cell carcinomas ส่วนโรคมะเร็งที่สามารถเจอในแมวได้ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma) squamous cell carcinomas และ melanomas เป็นต้น
ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการเกิดโรคมะเร็งในสุนัขและแมว
โรคมะเร็งส่วนใหญ่ต้องการหลายปัจจัยร่วมกันจึงจะทำให้เกิดโรคขึ้นได้ โดยจะมีทั้งปัจจัยภายใน และ ปัจจัยภายนอกตัวสัตว์ ยกตัวอย่างเช่น
- การติดเชื้อไวรัส ( เช่น กลุ่ม retroviruses)
- การได้รับรังสี แสง ultraviolet
- สารเคมีก่อมะเร็ง (chemical carcinogens)
ทั้งนี้ ยังพบว่ามีโรคมะเร็งบางประเภทที่สามารถส่งผ่านทางพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่นได้ ในสุนัขและแมวบางสายพันธุ์อาจพบว่ามีอัตราการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้มากกว่าพันธุ์อื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น สุนัขพันธุ์ Golden Retriever, Rottweiler และ Boxer เป็นพันธุ์ที่มีโอกาสพบเจอโรคมะเร็งได้มากกว่าพันธุ์อื่นๆ สำหรับในแมวนั้นมีการศึกษาพบว่าพันธ์ Siamese มีโอกาสพบเจอโรคมะเร็ง lymphomas ได้มากกว่าพันธุ์อื่น อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้อาจมีการเปลี่ยนไปในอนาคตได้เนื่องจากข้อมูลทางวิชาการนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ
อาการที่สามารถพบได้
อาการของโรคมะเร็งนั้นมักจะมีความหลากหลายและไม่ได้เจาะจง (specific) โดยอาการที่สามารถพบได้จะมีดังนี้
- น้ำหนักลดเรื้อรัง
- อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น มีน้ำมูก ไอ จามเรื้อรัง หายใจหอบ
- อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสียอาเจียนเรื้อรัง อุจจาระอาเจียนปนเลือด
- อาการทางระบบประสาท เช่น หัวเอียง เดินวน ชัก
- อาการทางระบบกล้ามเนื้อและโครงร่าง เช่น เดินกระเผลก เจ็บขา กระดูกหัก
- อาการทางระบบผิวหนัง เช่น พบก้อนเนื้อที่ผิวหนัง ขนร่วงผิดปกติ
- อาการทางระบบสืบพันธุ์ เช่น เนื้อเยื่อเต้านมเจริญผิดปกติ มีของเหลวผิดปกติไหลออกจากอวัยวะสืบพันธุ์
อาการที่กล่าวมาอาจจะเกิดขึ้นแค่อาการเดียว หรือ อาจเกิดพร้อมกันหลายอาการ และ อาจเกิดอาการจากหลายระบบได้
อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวนั้นไม่ได้จำเพาะต่อโรคมะเร็งเท่านั้น และ ในหลายๆ กรณีอาจไม่พบอาการแสดงในบางระยะหรือประเภทของโรคมะเร็งได้เช่นกัน
การวินิจฉัยโรคในสุนัข และแมว
การวินิจฉัยโรคมะเร็งนั้นต้องใช้ข้อมูลหลายส่วนประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็น การตรวจร่างกายโดยละเอียด ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น ค่าความสมบูรณ์ของเลือด ค่าเคมีในเลือด การดูผลเซลล์มะเร็งด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเจาะดูดเก็บเซลล์ การเก็บชิ้นเนื้อ และ หลายๆครั้งอาจต้องทำการฉายภาพรังสี เช่น เอ็กซเรย์ CT-Scan MRI ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวน์เพื่อหาเนื้องอกและดูการกระจายของเนื้องอกและความผิดปกติอื่นๆที่สามารถเกิดขึ้นได้ในร่างกายของสุนัขและแมว
การรักษา
ปัจจุบันมะเร็งวิทยาทางสัตวแพทย์ได้มีการพัฒนาเป็นอย่างมากเป็นผลให้สามารถรักษาโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพและในหลายๆเคสไม่พบการกลับมาเป็นซ้ำอีก โดยการรักษาหลักๆ จะประกอบไปด้วย
- การรักษาเคมีบำบัด (chemotherapy)
- การผ่าตัด (surgery)
- การฉายรังสีบำบัด (radiotherapy)
ทั้งนี้ข้อสำคัญของการรักษาโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพ คือ จะต้องมีการปรับและใช้การรักษาให้เหมาะสมกับสัตว์ป่วยนั้นๆ เนื่องจากต้องคำนึงถึงสภาพของสัตว์แต่ละตัว ระยะและประเภทของมะเร็ง และ ที่สำคัญเช่นกันคือเจ้าของสัตว์ เป็นผลให้แม้ว่าในหลายๆครั้ง โรคจะเหมือนกัน แต่การรักษาอาจจะต่างกัน
นอกจากการกำจัดตัวเนื้องอกแล้ว การรักษาเพื่อประคับประคองอาการของสัตว์ป่วยก็ยังมีความสำคัญเช่นกันเพื่อเป็นการลดและบรรเทาความเจ็บป่วยที่เกิดมาจากภาวะโรคมะเร็งที่เป็นอยู่ และ เพื่อลดอาการข้างเคียงที่เกิดจากการกำจัดเนื้องอก ยกตัวอย่างเช่น การให้ยาแก้ปวด การให้สารอาหารที่เหมาะสมในช่วงของการป่วย การให้สารน้ำเข้าสู่ร่างกายเพื่อทดแทนหรือแก้ไขภาวะการขาดน้ำ ซึ่งหากมีอาการป่วยมากหรือต้องดูแลใกล้ชิดอาจจะต้องทำการพักฟื้นร่างกายในโรงพยาบาล
โรคมะเร็ง “รู้เร็ว รักษาได้”
เนื่องจากโรคมะเร็งส่วนมากมักไม่ได้มีอาการเจาะจง ดังนั้นการนำสุนัขและแมวมาตรวจสุขภาพเป็นประจำร่วมกับการป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และ การนำมาตรวจตั้งแต่เริ่มมีอาการผิดปกติจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาได้อย่างดี