หวัดแมวคืออะไร เหมือนหวัดคนหรือไม่ ? - Arak Animal Hospital

หวัดแมวคืออะไร เหมือนหวัดคนหรือไม่ ?

ผู้เขียน : สพ.ญ. จิรัชญา กิติประสาท

หวัดแมวคืออะไร ?


       “หวัดแมว” (cat flu) เรียกอีกอย่างว่า โรคทางเดินหายใจส่วนต้นในน้องแมว เป็นโรคที่พบได้บ่อย มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อกลุ่มไวรัสเฮอร์ปีส์ (feline herpesvirus type 1: FHV-1 ) และไวรัสคาลิซี  (feline calicivirus :FCV)  หรือเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น Bordetella bronchiseptica, Pasteurella multocida และ Chlamydophila felis โดยน้องแมวบางตัวอาจพบการติดเชื้อร่วมกันระหว่างไวรัสและแบคทีเรียได้ โรคนี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะน้องแมวที่เลี้ยงในพื้นที่แออัดหรืออยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก สามารถติดกันผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำตา ซึ่งอาการจะรุนแรงในลูกแมว แมวที่ไม่เคยได้รับวัคซีน แมวป่วยเรื้อรัง และแมวที่มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน


อาการของโรคหวัดแมว

            อาการของน้องแมวที่พบได้คือ มีไข้ ซึม เบื่ออาหาร น้ำตาไหล มีน้ำมูก ตาแดง ไอ จาม บางตัวอาจพบแผลในปาก น้ำลายไหลหรือมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยจะพบน้ำมูกหรือขี้ตามีสีเขียวขุ่น และการติดเชื้อต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาโรคทางเดินหายใจ เยื่อตาขาวอักเสบ แผลที่กระจกตาและตาบอดได้ สำหรับลูกแมวอายุน้อยกว่า 1 ปี อาจทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบ ไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและเสียชีวิต

A Vet's Guide to Cat Flu | Treatment, Recovery + Much More

(Photo credit: expertCatCare)


หวัดแมวเหมือนกับหวัดคนหรือไม่ ?

       สำหรับหวัดแมว (cat flu) ที่มักพบได้บ่อยและคนส่วนใหญ่รู้จักกันนั้น มากกว่า 90 % เกิดจากการติดเชื้อไวรัส 2 ชนิดคือ ไวรัสเฮอร์ปีส์ (feline herpesvirus type 1: FHV-1 ) และไวรัสคาลิซี  (feline calicivirus :FCV) ต่างจากหวัดคนหรือไข้หวัดใหญ่ (Influenza) มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า (Influenza Virus) ซึ่งเป็นเชื้อคนละกลุ่มกัน ทำให้เชื้อไวรัสหวัดแมวไม่สามารถแพร่กระจายมาสู่คนได้ โดยเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า (Influenza Virus) สามารถพบได้ในน้องแมวเช่นกัน แต่จะพบได้น้อย อาการไม่รุนแรง และหายเองได้ สามารถติดจากแมวสู่แมวได้ ซึ่งโอกาสที่ไข้หวัดใหญ่ในน้องแมวสามารถติดไปสู่คนได้นั้นมีน้อย อาจขึ้นกับลักษณะของไวรัส ระยะเวลาหรือความรุนแรงของการสัมผัสกับโรค 

       ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสามารถสรุปได้ แต่แนะนำให้ผู้ป่วยที่มีที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงที่มีอาการป่วย หากเจ้าของสงสัยแนะนำให้พาสัตวเลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคต่อไป
 

การรักษาเเละจัดการโรคหวัดแมว

  1. พาน้องแมวมาทำวัคซีนกับสัตวแพทย์ครั้งแรกเมื่ออายุครบ 8 สัปดาห์ขึ้นไป กระตุ้นทุก 2-4 สัปดาห์จนถึงอายุ 16 สัปดาห์ เพื่อช่วยลดอาการและความรุนแรงของโรครวมถึงโอกาสในการเสียชีวิต และควรกระตุ้นวัคซีนทุกๆปีเพื่อให้ร่างกายยังมีภูมิคุ้มกับที่เหมาะสมและสามารถต่อสู้กับโรคได้
  2. หลีกเลี่ยงการเลี้ยงแมวในพื้นที่แออัด หากจำเป็นต้องรับแมวใหม่เข้ามา ควรแยกออกจากตัวอื่น ๆ ในฝูง อย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อและลดความเครียดให้กับน้องแมว 
  3. ดูแลความสะอาดของพื้นที่ ห้องน้ำ อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ชามน้ำ ชามอาหารอยู่เสมอเพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค

     

       จะเห็นได้ว่าหวัดแมวกับไข้หวัดในคนนั้นไม่เหมือนกัน แม้จะมีอาการที่คล้ายคลึงกัน แต่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสที่แตกต่างกัน ทำให้โอกาสในการส่งผ่านเชื้อจากแมวสู่คนนั้นเป็นไปได้ยาก ซึ่งหวัดแมวเป็นโรคที่ไม่รุนแรงและสามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นหากเจ้าของสังเกตเห็นอาการผิดปกติแนะนำให้เจ้าของพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตว์แพทย์ หรือหากมีสัตว์เลี้ยงอายุน้อยและยังไม่เคยได้รับวัคซีน แนะนำให้เจ้าของพาน้องมาฉีดวัคซีน เพื่อลดความรุนแรงของโรคและลดโอกาสในการเสียชีวิต
 

สอบถามเพิ่มเติม และนัดหมาย

แชร์

Copyright © 2023 Arak Animal Hospital | All Rights Reserved