วัคซีน น้องหมาและ น้องแมว ฉีดตอนไหน มีวัคซีนอะไรบ้าง? - Arak Animal Hospital

วัคซีน น้องหมาและ น้องแมว ฉีดตอนไหน มีวัคซีนอะไรบ้าง?

ผู้เขียน : น.สพ. ธนาพันธ์ วิมุกตานนท์

การฉีดวัคซีนในน้องหมา น้องแมวเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เนื่องจากในประเทศไทยยังมีรายงานการติดเชื้อที่รักษาหายได้ยากหรือเป็นแล้วมีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิตอยู่หลากหลายโรค ดังนั้นการฉีดวัคซีนในน้องหมา น้องแมว จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อที่จะได้ป้องกันและลดความรุนแรงของโรคนั้นๆ ได้

โดยในบทความนี้หมอจะขอกล่าวถึง

  • โรคติดเชื้อที่สำคัญในน้องหมา น้องแมว ที่ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกัน โดยจะแบ่งเป็น วัคซีนพื้นฐานที่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นทุกปี และวัคซีนทางเลือกที่ไม่จำเป็นต้องฉีดในน้องหมา หรือแมวที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ
  • ตารางโปรแกรมการฉีดวัคซีนในน้องหมา น้องแมวขวบปีแรก ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ดีของน้องหมา น้องแมว
  • อาการแพ้วัคซีน ที่คุณพ่อ คุณแม่ควรทราบเพื่อเอาไว้สังเกตอาการลูกๆ ทุกครั้งหลังจากการฉีดวัคซีน เพราะถึงแม้จะเป็นวัคซีนที่เคยฉีดเป็นประจำก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้ได้ และถ้าหากสามารถสังเกตอาการ และพาไปพบคุณหมอได้รวดเร็ว ก็จะบรรเทาความรุนแรงของอาการนั้นได้


โรคติดเชื้อที่สำคัญในน้องหมา

  • โรคไข้หัดสุนัข (Canine distemper)
  • โรคลำไส้อักเสบในสุนัข (Canine Parvovirus)
  • โรคเลปโตสไปโรซีสหรือโรคฉี่หนู (Leptospirosis)
  • โรคตับอักเสบในสุนัข (Infectious Canine Hepatitis, Canine Adenovirus)
  • โรคหลอดลมอักเสบในสุนัข (Canine Infectious Tracheobronchitis : CIT, Kennel cough)
  • โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)

โปรแกรมวัคซีนพื้นฐานที่จำเป็นของน้องหมาในขวบปีแรก

  • อายุ 8 สัปดาห์

วัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค ครั้งที่ 1

  • อายุ 12 สัปดาห์

วัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค ครั้งที่ 2

  • อายุ 14 สัปดาห์

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ครั้งที่ 1

  • อายุ 16 สัปดาห์

วัคซีนรวมป้องกัน 5 โรค ครั้งที่ 3

  • อายุ 18 สัปดาห์

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ครั้งที่ 2

  • อายุ 1 ปี

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ครั้งที่ 3 (จากนั้นฉีดทุก 1 ปี)

ข้อควรทราบอื่นๆ เกี่ยวกับวัคซีนในน้องหมา

  • วัคซีนรวมป้องกัน 5 โรคประกอบด้วย ไข้หัดสุนัข, ลำไส้อักเสบ, เลปโตสไปโรซิส, ตับอักเสบ, พาราอินฟูลเอนซ่า
  • หากลูกสุนัขมีความเสี่ยงสูง สามารถเริ่มทำวัคซีนป้องกัน 5 โรค เข็มแรกที่อายุ 6 สัปดาห์ และกระตุ้นเมื่ออายุ 6 เดือน ตัวอย่างลูกสุนัขที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ไม่ได้รับนมน้ำเหลืองจากแม่ หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงโรคลำไส้อักเสบหรือโรคไข้หัดสุนัข
  • กรณีที่น้องหมามีอายุมากกว่า 16 สัปดาห์ และยังไม่เคยได้รับวัคซีนเลย แนะนำให้ฉีดวัคซีนทุกชนิด อย่างละ 2 เข็ม ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นฉีดทุก 1 ปี

วัคซีนทางเลือกอื่นๆ

วัคซีนโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ หรือ Bordetella Bronchiseptica ให้วัคซีนโดยการให้ผ่านทางจมูกหรือทางปาก

  • หากอายุน้อยกว่า 16 สัปดาห์  ให้ 1 ครั้ง เริ่มให้หลังจากอายุ 3 สัปดาห์ หรือ 8 สัปดาห์ 
  • หากอายุมากกว่า 16 สัปดาห์  ให้ 1 ครั้ง
  • หลังจากนั้นให้ทุกๆ 1 ปี


หลังจากการฉีดวัคซีนทุกครั้งต้องงดการอาบน้ำให้น้องหมาเป็นเวลา 7 วัน


โรคติดเชื้อที่สำคัญในน้องแมว

  • โรคไข้หัดแมว (Feline panleukopenia หรือ Feline parvovirus )
  • โรคหวัดแมวหรือโรคระบบทางเดินหายใจส่วนต้นในแมว (Feline infectious upper respiratory tract disease)
  • โรคช่องท้องอักเสบติดต่อ (Feline infectious peritonitis : FIP)
  • โรคลิวคีเมียหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว (Feline leukemia virus : FeLV)
  • โรคเอดส์แมว (Feline Immunodeficiency Virus : FIV)
  • โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)

โปรแกรมวัคซีนพื้นฐานที่จำเป็นของน้องแมวในขวบปีแรก

  • อายุ 8 สัปดาห์

วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด + หวัดแมว ครั้งที่ 1

  • อายุ 12 สัปดาห์

วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด + หวัดแมว ครั้งที่ 2

  • อายุ 14 สัปดาห์

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ครั้งที่ 1

  • อายุ 16 สัปดาห์

วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด + หวัดแมว ครั้งที่ 3

วัคซีนลิวคีเมีย ครั้งที่ 1

  • อายุ 18 สัปดาห์

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ครั้งที่ 2

  • อายุ 20 สัปดาห์

วัคซีนลิวคีเมีย ครั้งที่ 2

ข้อควรทราบอื่นๆ เกี่ยวกับวัคซีนในน้องแมว

  • ควรที่จะตรวจเชื้อลิวคีเมียในครั้งแรก ก่อนฉีดวัคซีนลิวคีเมีย 
  • หากลูกแมวมีความเสี่ยงสูง สามารถเริ่มทำวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด + หวัดแมว เข็มแรกที่อายุ 6 สัปดาห์ และกระตุ้นเมื่ออายุ 6 เดือน ตัวอย่างเช่น น้องแมวที่ไม่ได้รับนมน้ำเหลืองจากแม่ หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงโรคหัดแมว
  • กรณีที่น้องแมวมีอายุมากกว่า 16 สัปดาห์ และไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน แนะนำให้ฉีดวัคซีนทุกชนิด อย่างละ 2 เข็ม ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นฉีดทุก 1 ปี
  • หลังจากการฉีดวัคซีนทุกครั้งต้องงดการอาบน้ำให้น้องแมวเป็นเวลา 7 วัน

และถึงแม้ว่าวัคซีนจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับน้องหมา น้องแมวที่จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคร้ายแรงต่างๆ ได้ แต่เช่นเดียวกับยาอื่นๆ วัคซีนก็มีโอกาสทำให้เกิดอาการแพ้ได้ และเพื่อให้คุณพ่อ คุณแม่สังเกตอาการแพ้ได้ทันท่วงที ในบทความนี้หมอก็ได้รวบรวมอาการแพ้แบบต่างๆ เอาไว้ให้แล้ว

อาการแพ้วัคซีน ในน้องหมา น้องแมว

อาการแพ้ส่วนใหญ่มักจะปรากฏภายใน 30 นาทีหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ในทันที

  • อาการทั่วไป: อาเจียน ท้องเสีย น้ำลายไหล หายใจติดขัด
  • อาการรุนแรง: จะมีอาการบวมที่ขอบตา ใบหน้า ลำคอ ลิ้น หรืออวัยวะเพศ โดยสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า

อย่างไรก็ตาม อาการแพ้วัคซีนเหล่านี้พบไม่บ่อย แต่เพื่อความปลอดภัย คุณพ่อ คุณแม่ควรสังเกตอาการน้องหมา น้องแมวอย่างใกล้ชิดหลังจากได้รับวัคซีน หากพบความผิดปกติดังที่กล่าวมาข้างต้นให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์ในทันที

สอบถามเพิ่มเติม และนัดหมาย

แชร์
99 ซอยสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2023 Arak Animal Hospital | All Rights Reserved