
สุนัขและแมว ตาไม่เท่ากัน หนังตาตก เกิดจากอะไร?
สุนัขและแมว ตาไม่เท่ากัน หนังตาตก เกิดจากอะไร?
เจ้าของน้องหมาน้องแมวเคยเจอแบบนี้หรือไม่? อยู่ๆน้องๆที่บ้านก็ดูเหมือนตาดำไม่เท่ากัน (Anisocoria) หนังตาห้อย หน้าเหี่ยว หรือหนังตาที่สามโผล่ขึ้นมา อาการเหล่านี้อาจเกิดจากกลุ่มอาการฮอร์เนอร์ (Horner’s syndrome) ซึ่งบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับกลุ่มอาการนี้กัน
กลุ่มอาการฮอร์เนอร์ (Horner’s syndrome) คืออะไร
กลุ่มอาการฮอร์เนอร์ (Horner’s syndrome) คือความผิดปกติของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อดวงตา กล้ามเนื้อม่านตา และกล้ามเนื้อใบหน้า ที่สามารถพบได้ในสุนัขและแมวทุกช่วงวัย โดยแบ่งเป็นความผิดปกติที่เกิดได้จาก 3 ส่วน คือ
- ปัญหาภายในสมองส่วนกลางและก้านสมอง ไปถึงเส้นประสาทไขสันหลังของกระดูกสันหลังส่วนอกชิ้นที่สาม
- ปัญหาเส้นประสาทจากไขสันหลังส่วนอกวิ่งขึ้นไปถึงกระดูกสันหลังคอส่วนต้น
ปัญหาเส้นประสาทจากกระดูกสันหลังคอ วิ่งผ่านช่องหูชั้นในไปควบคุมกล้ามเนื้อลูกตา และม่านตา
(Photo credit: quizlet)
สาเหตุของโรคกลุ่มอาการฮอร์เนอร์ (Horner’s syndrome)
สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ เส้นประสาทอักเสบจากการได้รับการกระทบกระเทือน และช่องหูอักเสบ ติดเชื้อ ส่วนสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ สมองเส้นประสาทติดเชื้อ เนื้องอกภายในสมอง และเส้นประสาทไขสันหลัง และแบบที่ไม่สามารถหาสาเหตได้ (idiopathic) โดยจะพบได้บ่อยในแมว
อาการที่พบจากโรคกลุ่มอาการฮอร์เนอร์
- รูม่านตาหดเล็ก (miosis) ไม่เท่ากันสองข้าง(anisocoria) ซึ่งเป็นอาการที่เจ้าของสังเกตได้ง่าย ว่าตาไม่เท่ากัน
- หนังตาตก (ptosis)
- ลูกตาจม (enopthalmos)
- หนังตาที่สามโผล่ขึ้นมา (third eyelid protusion)
- ใบหู จมูก แดงและมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ลักษณะนี้เป็นอาการไม่เด่น และเจ้าของจะสังเกตได้ยาก
แนวทางการวินิจฉัยโรคกลุ่มอาการฮอร์เนอร์
- ทำการตรวจตาเพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในดวงตา
- ใช้ยาหยอดตาขยายม่านตา (phenylephrine test)เพื่อเช็คการทำงานของม่านตา และระบุตำแหน่งที่เป็นสาเหตุ
- ตรวจช่องหู ดูการติดเชื้อ หรือความเสียหายของเยื่อแก้วหู
- ในบางรายต้องทำรังสีวินิจฉัย CT หรือ MRI เพิ่มเติมเพื่อเช็คความผิดปกติภายในสมอง ช่องหูชั้นใน และเส้นประสาท
แนวทางการรักษาโรคกลุ่มอาการฮอร์เนอร์
ต้องได้รับการวินิจฉัย และระบุตำแหน่งของปัญหาที่แน่นอน ก่อนทำการรักษาตามสาเหตุที่เกิดขึ้น เช่น ในกรณีเส้นประสาทเกิดการบาดเจ็บจากการกระกระทบกระเทือน จะรักษาด้วยการให้ยาลดอักเสบ ยาบำรุงเส้นประสาท กรณีช่องหูอักเสบ ติดเชื้อ ต้องลดการอักเสบ และคุมการติดเชื้อภายในช่องหู รวมถึงทำความสะอาดช่องหูเป็นประจำ หรือหากเป็นที่สมอง ก็ต้องวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ หรือ เนื้องอก ซึ่งก็จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน
จะเห็นได้ว่าสาเหตุของกลุ่มอาการนี้ เกิดได้จากหลายส่วน ดังนั้นการสังเกตุอาการและได้รับการวินิจฉัยจากสัตวแพทย์อย่างรวดเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงของเราได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที