โรคหัวใจ ภัยเงียบที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตฉับพลันในแมว - Arak Animal Hospital

โรคหัวใจ ภัยเงียบที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตฉับพลันในแมว

ผู้เขียน : สพ.ญ.ชัญภร กวางรัตน์ (อว.อายุรศาสตร์) โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์

สำหรับทาสแมวแล้วการเสียชีวิตฉับพลันของน้องแมวนับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตแบบฉับพลันได้แก่ การบาดเจ็บ และโรคหัวใจในแมว

สำหรับโรคหัวใจนั้นพบว่ามีแมวถึง 1 ใน 10 ตัว ที่เป็นโรคหัวใจ ซึ่งจะแบ่งเป็นโรคหัวใจที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด (congenital) และ โรคหัวใจที่เกิดขึ้นในภายหลัง(acquired) ที่มักจะแสดงอาการเมื่อรุนแรงแล้ว และเสียชีวิตอย่างฉับพลันโดยไม่มีสัญญาณใดๆ

ซึ่งวิธีการที่จะป้องกันไม่ให้น้องแมวเสียชีวิตแบบเฉียบพลันโดยไม่ทันได้รักษาก็คือการพาแมวมาตรวจสุขภาพ เพราะถ้าหากตรวจพบว่าเป็นโรคหัวใจคุณหมอก็จะได้ทำการรักษา เพื่อยืดชีวิตของน้องแมวออกไปได้ ไม่ทำให้เกิดการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันที่จะทำให้ทาสแมวต้องทำใจได้ยากต่อการจากไป

โรคหัวใจในแมวที่พบบ่อย

คือ โรคของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายๆ ชนิดย่อยได้อีก โดยชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา (Hypertrophic cardiomyopathy, HCM) ซึ่งมีรายงานพบในแมวช่วงอายุเฉลี่ย 7 ปี แต่ก็สามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 5 เดือน ไปจนถึงอายุ 20 ปี และพบในแมวเพศผู้มากกว่าแมวเพศเมีย

โดยพบว่าแมวในบางสายพันธุ์มีความเสี่ยงในการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดกล้ามเนื้อหัวใจหนามากกว่าสายพันธุ์อื่น คือ เมนคูน (Maine Coon), แรกดอล (Ragdoll) และ เปอร์เซีย (Persian)

ซึ่งมักไม่แสดงอาการผิดปกติ และอาจไม่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจร่างกายในแบบปกติ หรือจากการเอกซเรย์ช่องอก จึงทำให้การวินิจฉัยแมวที่ป่วยด้วยโรคหัวใจแบบไม่แสดงอาการทำได้ด้วยความยากลำบาก ยกเว้นกรณีที่แมวมีอาการแบบรุนแรงชัดเจน อาจตรวจพบอาการของภาวะหัวใจล้มเหลวแบบชัดเจน เช่น การหายใจเร็วถี่และแรงกว่าปกติ อาการหายใจลำบาก ขาหลังอ่อนแรงจากภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นที่หลอดเลือดแดงใหญ่ส่งผลให้เกิดภาวะอัมพาตเฉียบพลันและในบางรายก็เสียชีวิตเฉียบพลัน นอกจากนี้สามารถพบโรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดอื่นได้เช่นกัน ได้แก่

โรคกล้ามเนื้อหัวใจบาง (Dilated cardiomyopathy, DCM) มีรายงานว่าพบในแมวที่ขาดกรดอมิโนทอรีน เป็นต้น แต่ก็ไม่ควรมองข้ามโรคติดเชื้อพยาธิหนอนหัวใจซึ่งติดผ่านยุงก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้แมวเสียชีวิตฉับพลันได้เช่นกัน

เรามีวิธีการวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจในแมวที่ไม่แสดงอาการอย่างไรบ้าง ?

ในแมวที่ไม่แสดงอาการใดๆ อาจตรวจพบความผิดปกติของเสียงหัวใจ หากทำการเอกซเรย์อาจตรวจพบภาพเงาของหัวใจโตกว่าปกติ นอกจากนี้การตรวจพบค่าบ่งชี้ทางชีวภาพของหัวใจ (cardiac biomarker) ด้วยการตรวจจากเลือดที่มีความผิดปกติ แต่การตรวจทั่วไปเบื้องต้นตามที่กล่าวมานั้น อาจไม่พบความผิดปกติใดๆ ให้เห็นได้ในแมวหลายๆ รายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจ ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันโรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiography) ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะและความชำนาญของผู้ตรวจวินิจฉัย

การเสียชีวิตฉับพลันจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจเกิดได้อย่างไร ?

สันนิษฐานว่าการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันในในแมวที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจเกิดจากภาวะหัวใจห้องล่างสั่นพลิ้ว (ventricular fibrillation) หรืออาจเกิดจากภาวะลิ้มเลือดขนาดใหญ่อุดกั้นที่ทางออกห้องหัวใจด้านล่างซ้าย หรือระบบประสาทส่วนกลาง หรืออาจเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวมากจนปิดกั้นทางออกของหัวใจห้องล่างซ้าย (left ventricular outflow tract obstruction) โดยแมวที่มีประวัติว่าเคยมี หรือพบอาการหมดสติชั่วคราว (syncope) มาก่อนมักจะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้มากกว่า อย่างไรก็ตามเนื่องจากปัจจุบันยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่นอนและชัดเจนของการเสียชีวิตแบบฉับพลันในแมวที่ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจ จึงยังไม่ได้มีการรักษาทางยาหรือวิธีการป้องกันการเสียชีวิตเฉียบพลันที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ปัจจัยที่ทำให้แมวที่ป่วยด้วยโรคของกล้ามเนื้อหัวใจแบบไม่แสดงอาการ เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในแมว

พบว่าสาเหตุโน้มนำทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในแมวที่ป่วยด้วยโรคของกล้ามเนื้อหัวใจแบบไม่แสดงอาการ คือ ภาวะต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเครียดต่อแมว เช่น การต่อสู้กันของแมว การได้รับการวางยาสลบ การผ่าตัดเพื่อทำหัตถการต่างๆ กับตัวแมว หรือการได้รับสารน้ำบำบัดกรณีมีอาการป่วยด้วยสาเหตุอื่น 

เราจะปกป้องหัวใจน้องแมวจากความเสี่ยงนี้อย่างไร ?

มีเพียงอย่างเดียวที่เจ้าของสามารถทำได้คือ หมั่นพาน้องแมวมาตรวจเช็คสุขภาพหัวใจถึงแม้ร่างกายภายนอกโดยทั่วไปของน้องแมวจะดูปกติดีก็ตาม เพราะโรคของกล้ามเนื้อหัวใจที่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตแบบฉับพลันนั้น ทำการวินิจฉัยได้ยาก ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีความจำเป็นต้องตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) เพื่อวินิจฉัยโรคนี้ในแมว

ยิ่งหากต้องมีการพิจารณาทำหัตถการต่างๆ ที่ต้องวางยาสลบ หรือทำการผ่าตัด เพื่อคุณหมอจะได้รับทราบข้อมูลประกอบการวางแผนการรักษา และเฝ้าระวังในการสังเกตอาการผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น รวมไปถึงสามารถลดโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวแล้วทำให้เสียชีวิตแบบฉับพลันได้

และสิ่งสำคัญที่เราป้องกันได้ดีอีกอย่าง คือการป้องกันการติดพยาธิหนอนหัวใจ เพราะหากแมวมีการติดพยาธิหนอนหัวใจเพียง 2-3 ตัวก็เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้เช่นกัน

 

สพ.ญ.ชัญภร กวางรัตน์ (อว.อายุรศาสตร์)

โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์

 

หากต้องการนัดคุณหมอเพื่อพาน้องแมวมาตรวจหัวใจโทร 02-1069977

สอบถามเพิ่มเติม และนัดหมาย

แชร์
99 ซอยสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2023 Arak Animal Hospital | All Rights Reserved