โรคฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง

ผู้เขียน : สพ.ญ. ชุตินันท์ สุวรรณสิงห์

โรคฮีทสโตรกในสัตว์เลี้ยง

ฤดูร้อนกำลังหวนกลับมาอีกครั้ง ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปีอุณหภูมิอาจจะสูงถึง 43 - 44 องศา และโรคที่เจอได้บ่อยในสัตว์เลี้ยงช่วงอากาศร้อนแบบนี้คือภาวะฮีทสโตรก (heat stroke) หรือ โรคลมแดด ไม่ใช่แค่คนเราที่ได้รับผลกระทบจากฮีทสโตรกแบบนี้ สุนัขหรือแมวก็สามารถเกิดภาวะฮีทสโตรกได้เช่นเดียวกัน บางครั้งอาการของโรคอาจรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้เหมือนมนุษย์ เนื่องจากระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ไม่ดี ส่งผลให้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคลมแดด ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมแดดที่พบได้บ่อย ได้แก่ การอยู่ในสภาพอากาศร้อนมากๆ ขาดร่มเงา อากาศอบอ้าว ออกกำลังกายหนักมากเกินไป และการถูกกักขังในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก

สัตว์เลี้ยงที่เสี่ยงเกิดภาวะฮีทสโตรก

  • สุนัข หรือแมวสายพันธุ์หน้าสั้น (Brachycephalic dog)
  • สุนัขพันธุ์ใหญ่
  • สุนัข หรือแมวสูงวัย

และสุนัข หรือแมวที่มีโรคประจำตัว เช่น

  • โรคหัวใจ
  • โรคอ้วน
  • โรคหลอดลมตีบ
  • โรคหอบหืด

จะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง

โรคลมแดดเป็นภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นมากกว่าระดับปกติเป็นระยะเวลานานๆ เนื่องจากกลไกในการปรับอุณหภูมิของร่างกายล้มเหลว ส่งผลให้นำไปสู่ภาวะอวัยวะที่สำคัญต่างๆ ในร่างกายล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบการหายใจ ระบบลำไส้ ตับ ไต กล้ามเนื้อ

วิธีการหลีกเลี่ยง และป้องกันไม่ให้เกิดฮีทสโตรก

  • หลีกเลี่ยงการพาน้องหมาหรือน้องแมวออกไปเดิน หรือออกกำลังกายช่วงกลางวัน หรือช่วงที่อากาศร้อนอบอ้าว
  • ไม่ปล่อยให้น้องหมาน้องแมวอยู่ในพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ห้องปิดที่ไม่ได้มีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ หรือในรถโดยลำพัง
  • มีน้ำดื่มให้อย่างเพียงพอ
  • ตัดขนให้สั้นลงในสุนัขหรือแมวที่ขนยาวและหนา แต่ไม่ควรโกนขนสั้นจนเกินไป เพราะผิวหนังจะสัมผัสแสงแดดมากเกินไปหากต้องออกแดด

อาการที่สังเกตได้เมื่อสัตว์เลี้ยงเป็นฮีทสโตรก ได้แก่

  • มีอาการหายใจเร็ว หรือหอบมากผิดปกติ
  • น้ำลายไหลมากกว่าปกติ
  • สีเหงือกแดงเข้มกว่าปกติ
  • แสดงอาการหายใจลำบาก
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • อาเจียน
  • ท้องเสียโดยมีหรือไม่มีเลือด
  • อ่อนแรง ลุกยืนไม่ได้
  • เดินเซหรือล้มตัวลงนอนกะทันหัน
  • แสดงอาการชัก


ฮีทสโตรกจัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ถ้าหากปฐมพยาบาลไม่ทันอาจจะส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตได้ ดังนั้นการสังเกตอาการ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ที่จะสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตก่อนถึงมือสัตวแพทย์ได้


การปฐมพยาบาล

เมื่อสังเกตเห็นว่าน้องหมาน้องแมวมีอาการที่น่าจะเป็นฮีทสโตรก เจ้าของจะต้องทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้

  1. ย้ายน้องหมาหรือน้องแมวไปยังบริเวณที่อากาศถ่ายเท และเย็นกว่าที่เป็นอยู่
  2. นำน้ำดื่มมาวางไว้ให้เค้าดื่มเอง แต่อย่าบังคับให้ดื่ม
  3. ใช้ผ้าเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่าอุณหูมิห้อง แต่ไม่เย็นจัดเกินไป (cool-not cold-water) รดน้ำเบาๆด้วยสายยางหรือแช่ลงในอ่างอาบน้ำ แต่ควรระวังไม่ให้น้ำเข้าจมูก
  4. ใช้พัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากตัวสัตว์
  5. พาไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด


หากน้องหมาน้องแมวมีอาการผิดปกติอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ (อ่านเพิ่มเติม 5 สัญญาณเตือนว่าสัตว์เลี้ยงของคุณกำลังป่วย) หรือไม่มั่นใจว่าน้องหมาน้องแมวที่บ้านมีอาการฮีทสโตรกหรือไม่ แนะนำให้รีบพาน้องมาพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจร่างกายก่อนที่จะมีอาการมากขึ้น หรือก่อนที่ปัญหาสุขภาพจะลุกลามไปมากกว่านี้ ซึ่งโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง และมีคุณหมอฉุกเฉินที่พร้อมตรวจและให้การดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงแสนรักของคุณอยู่ตลอดเวลานะคะ


บทความโดย สพ.ญ. ชุตินันท์ สุวรรณสิงห์ ศูนย์ศัลยกรรมและวิสัญญี และตรวจรักษาโรคทั่วไป
สอบถามเพิ่มเติม


Copyright © 2023 Arak Animal Hospital | All Rights Reserved