สุนัขและแมวป่วยโรคไต ดูแลอย่างไร - Arak Animal Hospital

สุนัขและแมวป่วยโรคไต ดูแลอย่างไรดี

ผู้เขียน : สพ.ญ.ปุณยาพร เสืองามเอี่ยม

สุนัขและแมวป่วยโรคไต ดูแลอย่างไรดี


         ไตมีขับของเสียในเลือด ควบคุมปริมาณน้ำ ควบคุมการสร้างเม็ดเลือดแดง ควบคุมระดับแร่ธาตุแคลเซียม-ฟอสเฟต และควบคุมความดันโลหิต เมื่อไตมีความเสียหายหรือบกพร่องในการทำงานจะเริ่มส่งสัญญาณผิดปกติในการทำหน้าที่ แต่กว่าจะสามารถตรวจพบได้ ก็ต่อเมื่อไตเสียหายจนเกินกว่า 75% จะทำให้เกิดภาวะไตวายขึ้น (Renal injury/failure) มีผลทำให้เกิดการคั่งค้างของของเสียในเลือด ในการตรวจค่าเคมีโลหิตจึงสามารถตรวจพบว่ามีค่าไตและของเสียในกระแสเลือด (BUN และ Creatinine) ในเลือดสูงขึ้นกว่าปกติ โดยยิ่งมีค่าไตสูงมากขึ้นสุนัขและแมวก็จะเริ่มแสดงอาการอันเกิดจากของเสียสะสมชัดเจนขึ้น โดยภาวะไตวายแบ่งเป็น 2 ประเภทตามระยะเวลาการดำเนินไปของโรค


1. ภาวะไตวายเฉียบพลัน (Acute renal injury; AKI) 

เป็นภาวะที่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยถ้าตรวจพบได้ทันและทำการรักษาทันที ไตก็จะสามารถกลับมาเป็นปกติได้ สาเหตุ เช่น

  • ได้รับอุบัติเหตุ สูญเสียเลือดมาก   
  • ภาวะช็อก  ทำให้ขาดออกซิเจน
  • ภาวะโรคหัวใจ       
  • ขาดน้ำอย่างรุนแรง  
  • ไตอักเสบจากการติดเชื้อ เช่น โรคฉี่หนูหรือการติดเชื้อแบคทีเรียที่กรวยไต 
  • สารพิษ เช่น ethylene glycol ซึ่งเจอได้ในหม้อน้ำรถยนต์ สารหล่อเย็น 
  • ยาบางประเภทถ้ากินในระยะยาวส่งผลต่อไตได้ เช่น ยาในกลุ่มลดการอักเสบ (NSAIDs)
  • การอุดตันทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในท่อทางเดินปัสสาวะ ที่ทำให้ขับปัสสาวะไม่ได้


2.  ภาวะไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease; CKD) 

มักเกิดจากระบบอื่นๆ ที่ทำให้ไตเสียหายที่ละน้อยหรือเกิดขึ้นตามมาหลังจากภาวะไตวายเฉียบพลันที่รักษาไม่ทัน และยังสามารถเกิดจากความเสื่อมตามวัยด้วย โดยไตวายเรื้อรังจะสัมพันธ์กับช่วงอายุ โดยสุนัขพันธุ์เล็กส่วนใหญ่จะพบได้ในช่วงอายุ 10-14 ปี และพันธุ์ใหญ่มากกว่า 7 ปี ภาวะไตวายเรื้อรังนี้ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และไม่สามารถทำให้ไตกลับมาทำงานเป็นปกติ แต่สามารถให้การรักษาอย่างประคับประคอง เพื่อชะลอความเสื่อมของไตและให้สุนัขมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

 

อาการของโรคไตในสุนัขและแมว

  • อาการซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงมากกว่าปกติ 
  • กินน้ำเยอะและปัสสาวะมากกว่าปกติ 
  • อาเจียน และ อุจจาระมีสีดำสนิทหรืออุจจาระมีเลือดปน เนื่องจากมีเลือดออกในทางเดินอาหารจากการที่กรดในทางเดินอาหารเยอะเกิน มีกลิ่นปาก (uremic breath) 
  • มีแผลในช่องปากจากกรดยูเรียที่สูงขึ้น 
  • ความดันโลหิตสูงมากว่าปกติ 
  • มีอาการชักหรือตาบอดได้ โดยอาการชักในสัตว์ที่เป็นโรคไตนั้นเกิดได้จากค่าของเสียในร่างกายที่สูงมากขึ้นหรือภาวะความดันโลหิตสูง

 

การรักษาโรคไตในสุนัขและแมว

       จุดมุ่งหมายในการรักษาสัตว์ป่วยโรคไตคือการป้องกัน ชะลอ หรือแก้ไขภาวะUremia ที่เกิดขึ้น มุ่งเน้นไปที่การให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำหรือใต้ผิวหนัง เพื่อเร่งการขับสารพิษตระกูลยูเรียและเพิ่มการไหลของเลือดไปยังไตให้เพียงพอจนสามารถปรับตัวและกลับมาทำงานได้เพิ่มขึ้นได้ ร่วมกับการให้ยาอื่นๆตามอาการ เช่น ยาลดกรด สารดักจับฟอสเฟต ฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง และยาลดความดันโลหิต 
 

สุนัขและแมวป่วยโรคไต กินอะไรได้บ้าง

       สุนัขและแมวป่วยโรคไต กินอะไรได้บ้าง เป็นคำถามหนึ่งที่หมอได้รับบ่อยๆ การจัดการโภชนาการที่ถูกต้อง มีส่วนช่วยในการชะลอการดำเนินไปของโรคได้ โดยหลักๆแล้ว อาหารโรคไตต้องจำกัดปริมานโปรตีน ฟอสฟอรัส และ โซเดียม เพราะไตจะต้องทำงานหนักเพื่อขับเอาของเสียและเกลือแร่ดังกล่าวออก และ อาจเสริมวิตามินและกรดไขมันที่จำเป็นบางชนิด เช่น วิตามินบี และกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 เพื่อช่วยการทำงานของไต และที่สำคัญควรได้รับน้ำอย่างเพียงพอ โดยอาจใช้สูตร 50 X น้ำหนักตัว จะได้เป็นปริมานน้ำที่ควรได้รับต่อวัน เช่น สุนัขหนัก 10 kg ควรได้รับน้ำ 10x50 เท่ากับ 500 มิลลิลิตร ต่อ วันนั่นเอง


         อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า สุนัขและแมวที่เป็นโรคไตระยะแรกๆ มักจะไม่แสดงอาการผิดปกติใดให้เห็น แต่เมื่อไตเสียหายจนถึงระดับหนึ่งแล้ว จึงจะส่งผลให้มีการสะสมค่าของเสียในร่างกายเพิ่มสูงมากขึ้นจนแสดงอาการผิดปกติออกมา ดังนั้นหากมีอาการแสดงข้างต้น เจ้าของควรรีบนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์ และการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อติดตามค่าต่างๆ หากพบความผิดปกติตั้งแต่แรกๆจะได้ทำการรักษาทันท่วงที เพื่อยืดอายุสัตว์ป่วยให้ยาวนานที่สุดบนพื้นฐานของคุณภาพชีวิตที่ดี
 

สอบถามเพิ่มเติม และนัดหมาย

แชร์

Copyright © 2023 Arak Animal Hospital | All Rights Reserved