รวมอาการฉุกเฉินที่ควรพาสัตว์เลี้ยงไปโรงพยาบาลสัตว์ทันที - Arak Animal Hospital

รวมอาการฉุกเฉินที่ควรพาสัตว์เลี้ยงมาโรงพยาบาลสัตว์โดยด่วน

ผู้เขียน : สพ.ญ. ทิพวรรณ แสงชัญ

รวมอาการฉุกเฉินที่ควรพาสัตว์เลี้ยงมาโรงพยาบาลสัตว์โดยด่วน!!


       เคยสงสัยไหมคะ? บางทีที่น้องหมาน้องแมวไม่สบาย รู้สึกว่ามีอาการที่ผิดปกติไป โดยเฉพาะตอนกลางคืน อาการแบบนี้รอได้หรือไม่ หรือจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลสัตว์ทันทีเลยรึป่าว บทความนี้จะมาช่วยตอบข้อข้องใจ รวมอาการฉุกเฉิน อาการป่วยรุนแรงที่ส่งผลต่ออวัยวะสำคัญและอาจทำให้สัตว์ป่วยเสียชีวิตได้ 

 

  • ภาวะหายใจลำบาก หอบหายใจ หายใจไม่ออก 

      หากพบว่าสุนัขหรือแมว หายใจที่ขึ้น มีอาการยืดคออ้าปากหายใจ หายใจมีเสียงดังคล้ายห่าน หรือมีเยื่อเมือกหรือสีลิ้นเริ่มเป็นสีม่วงคล้ำ ถือเป็นหนึ่งในอาการฉุกเฉินที่สำคัญ โดยในแมวอาจจะสังเกตได้ยากกว่าสุนัข ต้องอาศัยการสังเกตอาการยุบพองของช่องท้องว่าน้องกำลังใช้ช่องท้องช่วยหายใจ โดยสาเหตุนั้นเกิดได้จากหลายอย่าง เช่น การมีภาวะน้ำท่วมปอด ปอดอักเสบติดเชื้อ ภาวะ heat stroke หลอดลมตีบ หรือแม้กระทั่งการมีสิ่งแปลกปลอมไปอุดทางเดินหายใจ เป็นต้น

        ในกรณีเหล่านี้ สัตว์ป่วยจำเป็นต้องได้รับ oxygen โดยเร็วที่สุด และได้รับการประเมินอาการอย่างใกล้ชิดจากสัตวแพทย์เพื่อรักษาสาเหตุต่อไป โดยหากเจ้าของสงสัยว่าอาการหอบหายใจนี้ เกิดจากการที่มีอากาศร้อน เสี่ยงจะเป็นลมแดดหรือ heat stroke สิ่งที่สามารถช่วยได้ คือ ควรรีบทำการ cool down เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายเย็นลงเบื้องต้น เช่นเป่าพัดลม การเช็ดตัวหรืออาบน้ำโดยใช้น้ำอุณหภูมิปกติไหลผ่านตัว และรีบพามาพบสัตวแพทย์ทันที

 

  • ภาวะชัก เหยียดเกร็ง   

       ไม่ว่าจะเป็นชักครั้งแรก หรือในรายที่มีประวัติการชักอยู่แล้ว เนื่องจากสัตว์ป่วยมีโอกาสเกิดอาการชักขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้ ภายหลังจากที่ระงับชักได้แล้ว ต้องตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุการชัก และพิจารณาให้ยาระงับชักตามความเหมาะสมของแต่ละเคส โดยหากปล่อยให้สัตว์เกิดการชักซ้ำบ่อยๆ หรือชักต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะมีผลกระทบต่อสมอง ทำให้เซลล์สมองบวม เกิดความผิดปกติของระบบประสาท และมีโอกาสเสียชีวิตได้
 

  • เกิดอุบัติเหตุต่างๆ เช่น รถชน ตกตึก โดนกัด ไฟไหม้ 

       เพราะถึงแม้ว่าภายนอกจะดูปกติดี แต่อาจมีภาวะแฝงที่อันตรายส่งผลต่อชีวิตได้ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที เช่น การมีเลือดไหลไม่หยุด หรือมีเลือดออกในช่องท้อง ภาวะกะบังลมฉีกขาด ท่อปัสสาวะฉีกขาด กระดูกหัก หรือแม้กระทั่งภาวะช็อคจากความเจ็บปวด 
       โดยที่ขณะพามาโรงพยาบาลควรจับด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากสัตว์กำลังอยู่ในภาวะที่เจ็บปวดและกลัวมาก อาจทำร้ายคนที่เข้าช่วยเหลือได้ ในบางรายควรทำการมัดหรือดามไว้กับแผ่นเรียบเพื่อป้องกันกระดูกหรือเส้นประสาทเคลื่อน ในรายที่มีแผลเปิดควรทำการคลุมแผลด้วยผ้าสะอาดเบื้องต้นก่อน ส่วนในรายที่มีเลือดออกไม่หยุด ควรใช้ผ้าสะอาดกดห้ามเลือดไว้ และรีบนำมาส่งสัตวแพทย์ทันที
 

  • เกิดอุบัติเหตุ หรือโดนกัดบริเวณดวงตา

       ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุโดนกัดเพียงนิดเดียว หรือเป็นอุบัติเหตุใหญ่ จนทำให้เกิดลูกถลนออกมาจากเบ้า ไม่ว่ากรณีไหนก็ควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์ เนื่องจากดวงตาเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญ ต้องตรวจประเมินการทำงานของดวงตาว่ายังสามารถมองเห็นและใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาให้ทันท่วงทีก็มีโอกาสที่จะทำให้สัตว์สูญเสียการมองเห็นตลอดชีวิตได้

 

  • ปัสสาวะไม่ออก เบ่งปัสสาวะแต่ไม่มีอะไรออกมา หรือปัสสาวะออกมาเป็นหยด 

       เนื่องจากเมื่อปัสสาวะไม่ออกเป็นเวลานาน ใน24ชั่วโมงไม่มีการปัสสาวะเลย จะทำให้ของเสียในร่างกายจะไม่ถูกขับออกไป และมีผลทำให้ค่า electrolyte บางอย่างในร่างกายผิดปกติ โดยเฉพาะค่า potassium ซึ่งถ้าค่านี้สูงเกินไปจะมีผลต่อการเต้นของหัวใจ ส่งผลให้หัวใจทำงานผิดปกติและมีโอกาสเสียชีวิตได้ 
        รวมถึงการมีสิ่งคัดหลั่งไหลออกจากอวัยวะเพศ โดยเฉพาะในน้องหมาน้องแมวเพศเมียที่ยังไม่ได้ทำหมัน อาจสงสัยภาวะมดลูกอักเสบติดเชื้อ ซึ่งต้องได้รับการปรับสภาพและทำการผ่าตัดแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตตามมาได้เช่นกัน
 

  • สงสัยว่ากินสารพิษ สารเคมี เช่น ยาเบื่อหนู 

       แนะนำให้ถ่ายรูปหรือนำสารพิษหรือสารเคมีนั้นๆมาด้วย แต่ที่ไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่งคือ การพยายามกระตุ้นการอาเจียนเองที่บ้าน เนื่องจากสารพิษบางอย่างเมื่อถูกกระตุ้นให้อาเจียนขึ้นมาตามทางเดินอาหารใหม่อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งต้องปรับเป็นวิธีการอื่น เช่น การล้างท้องแทน จึงแนะนำให้พามาให้สัตวแพทย์ทำการวินิจฉัยและประเมินการรักษาอย่างเหมาะสม 
 

  • สงสัยว่าถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย 

       เช่น งู ต่อ ผึ้ง หรือแม้กระทั่งการสงสัยว่าไปสัมผัสสัตว์มีพิษ เช่น คางคก ควรพามาหาสัตวแพทย์ประเมินความรุนแรง เฝ้าระวังอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ในรายที่โดนงูกัด แนะนำให้ถ่ายรูป หรือพยายามจำลักษณะให้ได้มากที่สุดเพื่อการเลือกใช้เซรุ่มแก้พิษอย่างเหมาะสม
 

  • สงสัยว่ากินสิ่งแปลกปลอม เช่น ของเล่น หิน หรือเข็ม ด้าย เป็นต้น     

ให้รีบนำมาหาสัตวแพทย์โดยเร็วเพื่อวินิจฉัยและวางแผนในการนำสิ่งแปลกปลอมออก ส่วนในรายที่เห็นว่ามีการกินด้าย โดยที่ยังมีด้ายโผล่ออกมาจากปาก ห้าม!! ทำการดึง หรือพยายามรูดด้ายออกมาเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดการรูดบาดลำไส้ หรือทางเดินอาหาร ทำให้เกิดภาวะลำไส้ทะลุได้ 
 

  • หมดสติไม่รู้สึกตัว หรือไม่หายใจ 

ควรรีบนำส่งสัตวแพทย์ที่ใกล้ที่สุดเพื่อให้สัตว์ได้รับการช่วยเหลือได้เร็วที่สุด

    

       อาการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาการฉุกเฉินของสัตว์ที่ควรรีบพามาพบสัตวแพทย์ ยังมีอีกหลายอาการที่น่ากังวล เช่น อาเจียนหรือท้องเสียติดกันหลายครั้ง อ่อนแรง คลอดไม่ออกหรือเบ่งคลอดเป็นเวลานาน เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือหมั่นสังเกตอาการของสัตว์เลี้ยง หากพบอาการใดๆที่ผิดปกติไปจากเดิมและสงสัยว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน สามารถพามาตรวจรักษาได้ที่โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ เราเปิดตลอด 24 ชั่วโมงค่ะ
 

สอบถามเพิ่มเติม และนัดหมาย

แชร์

Copyright © 2023 Arak Animal Hospital | All Rights Reserved