รู้ได้อย่างไร ว่าสุนัขกำลังตั้งท้อง
รู้ได้อย่างไร ว่าสุนัขกำลังตั้งท้อง
เมื่อสุนัขเพศเมียเจริญเติบโตจนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ซึ่งโดยทั่วไปอยู่ที่อายุ 6-12 เดือน จะเข้าสู่ภาวะการเป็นสัด และมีโอกาสที่จะเกิดการผสมพันธุ์กับสุนัขเพศผู้ ทั้งโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจของคุณพ่อคุณแม่ก็ตาม แต่หากผสมติดแล้ว ในสุนัขจะตั้งท้องโดยเฉลี่ย ประมาณ 63 วัน ซึ่งในระหว่างการตั้งท้อง และการคลอดนั้นก็ต้องมีการตระเตรียมตัวหลายอย่างทั้งการดูแลแม่ก่อนคลอด การวางแผนการจัดการระหว่างการคลอด และการจัดการลูกสุนัขที่กำลังจะเกิดมาในอนาคต
แต่ก่อนที่จะเริ่มการเตรียมตัวต้อนรับสมาชิกใหม่ คุณพ่อคุณแม่จะทราบได้อย่างไร ว่าเด็กๆของเรานั้นกำลังเข้าสู่ภาวะตั้งท้อง???
ในความเป็นจริง การตั้งท้องระยะต้นในสุนัขอาจจะสังเกตได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากลูกสุนัขในท้องยังตัวเล็กทำให้กายภาพของแม่สุนัขยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่หากคุณพ่อคุณแม่ค่อนข้างใกล้ชิดกับเด็กๆ อาจพบพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น
- นิ่งขึ้น เหนื่อยง่าย หรือทำกิจกรรมลดลง และอาจมีพฤติกรรมแยกตัวออกไป
- อาจมีภาวะอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่ายกว่าปกติ
- พฤติกรรมการกินเปลี่ยน ซึ่งค่อนข้างแตกต่างไปในแต่ละตัว บางตัวอาจพบว่ากินอาหารเก่งขึ้นในขณะที่บางตัวเบื่ออาหารและกินลดลง
และเมื่อเวลาผ่านไปจนเข้าสู่ช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ จะสังเกตได้ว่า
- ช่องท้อง และเต้านมจะขยายใหญ่มากขึ้น บางตัวมีน้ำนมไหลในช่วงสัปดาห์ท้ายๆก่อนคลอด
- น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น
- ปัสสาวะบ่อยขึ้น จากการที่มดลูกเบียดกระเพาะปัสสาวะทำให้กระเพาะปัสสาวะขยายได้น้อย
- มีพฤติกรรมขุดทำรังเพื่อเตรียมคลอด
ทั้งนี้ในสุนัขมีภาวะที่เรียกว่า 'ท้องเทียม(Pseudopregnancy)' ซึ่งอาการและพฤติกรรมทุกอย่างจะคล้ายคลึงกับสุนัขตั้งท้อง ทำให้คุณพ่อคุณแม่อาจเข้าใจผิดได้ แต่เมื่อถึงเวลาที่เราคาดว่าจะเกิดการคลอด กลับไม่พบว่ามีการคลอดลูกสุนัขออกมาให้เห็น ดังนั้น หากพบว่าเด็กๆของเราถูกผสมในช่วงที่เป็นสัด หรือสงสัยว่ามีการตั้งท้องจากพฤติกรรม หรือลักษณะทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไป แนะนำว่าควรพาเด็กๆไปพบสัตวแพทย์ เพื่อวางแผนการตรวจท้องโดยละเอียด
โดยปกติแล้วสัตวแพทย์มักใช้การอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง (ทำนัดคุณหมอศูนย์รังสีวินิจฉัยโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์) และถ่ายภาพรังสีเป็นเครื่องมือหลักในการประกอบการวินิจฉัยการตั้งครรภ์ ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลรายละเอียดหลายอย่าง เช่น อัตราการเต้นของหัวใจลูก ลักษณะอวัยวะในช่องท้อง ช่องอกของลูก การประเมินวันคลอด จำนวนตัวลูก และโอกาสในการเกิดภาวะคลอดยากจากขนาดหัวลูกที่ใหญ่กว่าเชิงกรานแม่ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเตรียมตัวของคุณพ่อคุณแม่ เพื่อวางแผนการคลอดของเด็กๆ ทำให้ลดโอกาสการเกิดภาวะคลอดยาก และการสูญเสียนั่นเอง
บทความโดย สพ.ญ. ถิราภรณ์ ตวงสินธนากุล