.png)
การดูแลแม่และลูกสัตว์แรกเกิด
การดูแลแม่และลูกสัตว์แรกเกิด
จากบทความที่แล้ว “รู้ได้อย่างไร ว่าสุนัขกำลังตั้งท้อง” เราได้ทราบกันแล้วว่า ควรจะดูแลสุนัขและแมวอย่างไรในช่วงที่กำลังตั้งท้อง คราวนี้เมื่อสุนัขและแมวของเราใกล้คลอด และ กำลังจะกลายเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ เจ้าของอย่างเราจะทราบได้อย่างไรว่า น้องจะคลอดเมื่อไร ต้องช่วยคลอดหรือไม่ พร้อมกับเตรียมตัวต้อนรับสมาชิกใหม่และจะดูแลเจ้าตัวจิ๋วให้มีสุขภาพที่แข็งแรง
การตั้งท้องเเละการคลอดในสุนัขเเละแมว
โดยปกติแล้วสุนัขและแมว จะใช้เวลาในการตั้งท้อง(gestation period) อยู่ที่ 52-74 วันหรือประมาน 2 เดือนนับตั้งแต่วันผสม เมื่อสุนัขและแมวที่อุ้มท้อง จนใกล้คลอดจะเริ่มแสดงอาการทางพฤติกรรมออกมาให้เห็น เช่น การเริ่มสร้างรัง มีอาการกระวนกระวาย หรือ เริ่มมีพฤติกรรมการกัดหรือเลียที่อวัยวะเพศ ในช่วงนี้เจ้าของควรสังเกตพฤติกรรมของสุนัขและแมวตัวเองอย่างใกล้ชิด เมื่อเริ่มเข้าสู่กระบวนการคลอด เจ้าของอาจมีการช่วยคลอดเพิ่มเติม เช่น การใช้ผ้าสะอาดถูทำความสะอาดตัวลูก ใช้ลูกบอลยางในการกำจัดเมือกบริเวณจมูกและปาก และ การช่วยผูกสายรก ฯ แต่หากมีความผิดปกติในช่วงระหว่างการคลอด หรือมีภาวะคลอดยากควรรีบนำส่งสัตวแพทย์ทันที
สำหรับลูกสัตว์ ช่วงระยะเวลาหลังคลอดจนถึงหย่านมถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับลูกสัตว์ เนื่องจากมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตค่อนข้างสูง โดยเฉพาะลูกสัตว์ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 21 วัน เป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงมากที่สุด รวมถึงลูกสัตว์ที่ไม่มีแม่สัตว์เลี้ยงหรือแม่สัตว์ไม่เลี้ยงลูกเอง เจ้าของจะต้องช่วยเข้ามามีบทบาทในการดูแลเจ้าตัวจิ๋วมากขึ้น โดยการสังเกตและปฏิบัติตามในหัวข้อดังต่อไปนี้
อุณหภูมิ (temperature) ของลูกสัตว์แรกเกิด
- อุณหภูมิในลูกสัตว์อายุประมาณ1สัปดาห์ ควรอยู่ในช่วง 95-99 องศาฟาเรนไฮด์(35-37.2องศาเซลเซียส)
- ลูกสัตว์อายุประมาณ 2-3สัปดาห์ ควรอยู่ในช่วง 97-100 องศาฟาเรนไฮด์(36.1-37.8องศาเซลเซียส)
- อายุ4สัปดาห์ควรมีอุณหภูมิอยู่ในช่วง 99-101 องศาฟาเรนไฮด์(37.2-38.3 องศาเซลเซียส)
ในลูกสัตว์แรกคลอดมีความสามารถในการปรับอุณหภูมิภายในร่างกายให้คงที่(thermoregulation)ได้ต่ำ เนื่องจากร่างกายยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ตามปกติแล้วหลังคลอด ลูกสัตว์จะมีสัญชาตญาณ พยายามเข้าหาเต้านมแม่เนื่องจากอุณหภูมิตัวแม่จะมีอุณหภูมิสูงกว่า ทำให้สามารถชดเชยความร้อนที่เสียไปจากร่างกายของลูกสัตว์ได้
ภาวะอุณหภูมิต่ำ(hypothermia)เป็นภาวะที่อันตรายถึงชีวิต และเกิดได้รวดเร็วมากหากไม่มีการควบคุมอุณหภูมิในสิ่งแวดล้อมที่ดี ดังนั้นเจ้าของควรให้ลูกสัตว์อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม
รวมถึงความชื้นก็มีความสำคัญต่อลูกสัตว์เช่นเดียวกัน ความชื้นที่เหมาะสมกับลูกสัตว์ควรอยู่ในช่วง 55-60% เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแห้งน้ำ(dehydration) และผิวหนังแห้ง(dry skin) โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมของทั้งตัวลูกสัตว์ และ สิ่งแวดล้อม

โภชนาการในลูกสัตว์ (neonatal nutrition)
ลูกสัตว์แรกเกิด ควรได้รับ Colostrum หรือนมน้ำเหลือง ซึ่งมีส่วนผสมของภูมิคุ้มกัน(immunoglobulins)จากแม่ ตั้งแต่ 1-24 ชั่วโมงหลังคลอด เนื่องจากความสามารถในการดูดซึมภูมิคุ้มกัน(immunoglobulins) จะลดลงเมื่อผ่านไป8ชั่วโมงหลังแรกเกิด และจะไม่พบการดูดซึมภูมิคุ้มกันนี้เมื่อเวลาผ่านไป 48-72 ชั่วโมงหลังคลอด หากลูกสัตว์ไม่ได้รับนมน้ำเหลือง แม่แมวหรือแม่สุนัขมีนมไม่เพียงพอหรือไม่พบพฤติกรรมการเลี้ยงลูก ควรมีการพิจารณาการให้น้ำนมทดแทน(milk replacer) ที่มีคุณค่าอาหารเพียงพอต่อลูกสัตว์ ในกรณีที่หานมทดแทนไม่ได้ อาจให้นมแพะแทนก่อนได้
การป้อนนมในลูกสัตว์ ควรให้เป็นปริมาณที่น้อยแต่เพิ่มความถี่ในการป้อน โดยปกติมักให้ทุกๆ2-3ชั่วโมงในช่วงแรกเกิด ควรเลือกขนาดอุปกรณ์การป้อนนมให้เหมาะกับขนาดปากของลูกสัตว์หากใช้ไซริงค์(syringe)ในการป้อนควรป้อนทีละนิดเพื่อป้องกันการสำลัก ปริมาณน้ำนมที่ให้จะขึ้นกับขนาดตัวของลูกสัตว์ ซึ่งปกติแล้วลูกสัตว์จะหยุดกินนมเมื่อรู้สึกอิ่ม
ปกติในลูกสัตว์จะเริ่มหย่านมที่อายุประมาน 4-5 สัปดาห์ ในช่วงอายุประมาณ สัปดาห์ที่ 4 เจ้าของควรเริ่มเสริมอาหารเม็ดเพิ่มเนื่องจากนมอย่างเดียวอาจมีสารอาหารที่ไม่เพียงพอ โดยเริ่มปรับเป็นอาหารกึ่งแข็ง(semi-solid food)ก่อนโดยใช้อัตราส่วน อาหารเม็ด:น้ำ/นมทดแทน เท่ากับ 1:3 ส่วน หรือหากอยากปรับเป็นอาหารเปียกสามารถให้ได้ในอัตราส่วน อาหารเปียก:น้ำ เท่ากับ 2:1 ส่วน ในลูกสัตว์อายุ 5-6สัปดาห์จะเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้นสามารถให้อาหารเม็ดอย่างเดียวได้โดยไม่ต้องผสมน้ำหรือนมทดแทนได้
ระบบขับถ่ายในลูกสัตว์ (Excretory system)
ในลูกสัตว์ที่อายุ3สัปดาห์แรกจะยังไม่สามารถขับถ่ายออกมาได้ด้วยตัวของลูกสัตว์เองจะต้องมีการกระตุ้นการขับถ่ายให้ลูกสัตว์ ในธรรมชาติแม่สัตว์จะทำการกระตุ้นการขับถ่ายด้วยการเลียบริเวณอวัยวะเพศให้ลูกสัตว์ ซึ่งหากไม่มีตัวแม่กระตุ้นการขับถ่ายให้ เจ้าของจะต้องทำการกระตุ้นขับถ่ายให้แทน โดยการใช้สำลีชุบน้ำอุ่นถูเบาๆเป็นวงกลมบริเวณอวัยวะเพศของลูกสัตว์หลังจากที่ลูกสัตว์กินเสร็จ หลังจากที่ลูกสัตว์ขับถ่ายแล้วควรหาผ้าสะอาดเช็ดทำความสะอาดเพิ่งไม่ให้ผิวบริเวณนั้นมีความชื้นมากเกินไปจนก่อให้เกิดโรคได้
การป้องกันโรคในลูกสัตว์ (Preventive Program)
ในช่วงที่ลูกสัตว์มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึงก่อนอายุ2เดือน เจ้าของควรมีสุขอนามัยที่ดีเพื่อป้องกันการนำโรคไปสู่ลูกสัตว์ เช่น การล้างมือก่อนเล่นกับลูกสัตว์ การทำความสะอาดอุปกรณ์ป้อนนมอย่างถูกวิธี การทำความสะอาดบริเวณที่ลูกสัตว์อาศัยอยู่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการนำโรคมาสู่ลูกสัตว์ได้
ที่สำคัญเมื่อลูกสัตว์อายุได้ประมาณ 2 เดือน เจ้าของควรพาไปหาสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป ถ่ายพยาธิภายใน ป้องกันเห็บหมัดและพยาธิหนอนหัวใจ รวมถึงวางแผนในการทำวัคซีนให้ครบตามวัย เพื่อให้ลูกสัตว์มีสุขภาพที่แข็งแรงและปลอดภัยจากโรคต่าง ๆ
