โรคเบาหวานในสุนัขและแมว - Arak Animal Hospital

โรคเบาหวานในสุนัขและแมว

ผู้เขียน : น.สพ. อัครุตม์ ลิขิตวัฒนชัย ศูนย์ศัลยกรรมและวิสัญญี, ศูนย์โรคอายุรกรรม โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์

โรคเบาหวานในสุนัขและแมว (Diabetes Mellitus)

เบาหวานเป็นโรคทางฮอร์โมนที่สามารถเกิดขึ้นได้ไม่เพียงแต่ในคน แต่สามารถพบในสัตว์เลี้ยงเช่นน้องหมา น้องแมวได้เช่นกัน

สัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคนี้จะมีปริมาณน้ำตาลในเลือด (glucose) สูงกว่าปกติ อันเป็นผลจากการที่ร่างกายไม่สามารถหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) ได้อย่างเหมาะสม หรืออาจมาจากการที่ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินที่หลั่งออกมาก็ได้

สาเหตุของโรคเบาหวานในสุนัขและแมว

  • ภาวะภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ของตับอ่อน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอินซูลิน
  • ภาวะตับอ่อนอักเสบ ทำให้ตับอ่อนไม่สามารถหลั่งอินซูลินออกมาได้อย่างเหมาะสม
  • ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลินที่หลั่งออกมา (insulin Resistance) ซึ่งเกิดขึ้นได้ใน สัตว์ที่อ้วน ตั้งครรภ์ หรือมีโรคประจำตัว  

สัตว์เลี้ยงที่มีภาวะเหล่านี้ มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานมากกว่าปกติ

  • ภาวะอ้วน (Obesity)
  • โรค Cushing’s Syndrome
  • โรคพร่องไทรอยด์ (Hypothyroidism)
  • โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
  • สัตว์ที่ตั้งครรภ์
  • ร่างกายติดเชื้อ
  • การใช้ยาบางประเภท 

สายพันธุ์สุนัขที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

  • Miniature Poodles
  • Dachshund
  • Schnauzers
  • Cairn Terriers
  • Beagles

สายพันธุ์แมวที่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

  • Burmese หรือสายพันธุ์ศุภลักษณ์
  • Russian Blue
  • Norwegian Forest Cat
  • Abyssinian
  • Tonkinese

อาการที่พบได้เมื่อสัตว์เลี้ยงเป็นโรคเบาหวาน

  • ทานน้ำเยอะ ปัสสาวะเยอะผิดปกติ
  • ทานอาหารเยอะขึ้นผิดปกติ
  • น้ำหนักลด
  • พบต้อกระจกในดวงตา (ดวงตามีสีขาวขุ่น) [อ่านเรื่องต้อกระจกในดวงตาเพิ่มเติม]
  • หากเป็นโรคเบาหวานไประยะหนึ่งและไม่ได้รับการรักษา สามารถพัฒนาไปเป็น ภาวะเบาหวานเป็นพิษ (DKA - Diabetes Ketoacidosis)ได้ ซึ่งจะทำให้น้องหมา น้องแมวมีอาการซึม ไม่ทานอาหาร อาเจียน และมีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น

ขั้นตอนการตรวจ

  1. ตรวจน้ำตาลในเลือด โดยวิธีนี้จะต้องอดอาหารก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง ซึ่งค่าน้ำตาลในเลือดปกติจะไม่เกิน120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  2. ตรวจน้ำตาลในปัสสาวะ โดยใช้แถบตรวจปัสสาวะ ซึ่งนอกจากจะบอกค่าน้ำตาลในปัสสาวะแล้ว ยังบอกค่าคีโตน (Ketone) ที่เป็นของเสียอันแสดงถึงจากภาวะเลือดเป็นกรดในรายที่เป็นเบาหวานแบบรุนแรง หรือภาวะเบาหวานเป็นพิษ (DKA - Diabetes Ketoacidosis) ได้อีกด้วย
  3. ตรวจค่าฟรุคโตซามีน (Fructosamine) ซึ่งเป็นค่าของโปรตีนในเลือดที่จับกับน้ำตาล โดยค่านี้จะแสดงถึงระดับน้ำตาลในเลือดระยะยาว ดังนั้นหากค่านี้มีระดับที่สูง ร่วมกับระดับน้ำตาลในเลือดที่สูง จะบ่งชี้ว่าเป็นเบาหวาน

วิธีการรักษาโรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยง

หลังจากได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคเบาหวาน คุณหมอจะทำการรักษาด้วยการให้ฉีดยาฮอร์โมน insulin เพื่อลดภาวะน้ำตาลสูง โดยคุณหมอจะแนะนำให้น้องอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน ซึ่งในช่วง 24 ชั่วโมงแรกคุณหมอจะตรวจและสังเกตค่าน้ำตาลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่ายาที่ได้รับอยู่ในโดสที่เหมาะสม หากอาการ และระดับน้ำตาลปกติ จึงจะสามารถกลับบ้าน และให้เจ้าของไปฉีดยาให้น้องต่อที่บ้านได้

การดูแลสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคเบาหวาน

  • ฉีดยาใต้ผิวหนังตามคำแนะนำของหมอ โดยหมอจะสอนวิธีการและฝึกฉีดยากับ เจ้าของก่อนส่งกลับบ้าน
  • ปรับชนิดและปริมาณอาหาร เพื่อคุมระดับน้ำตาลให้เหมาะสม
  • มาตรวจกับหมออย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจว่าได้รับยาในปริมาณที่เหมาะสม

ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเบาหวานในสัตว์เลี้ยง

ค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นหนึ่งในข้อสงสัยที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องการทราบมากที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะบอกได้ว่าค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของสัตว์เลี้ยง ปริมาณ Insulin ที่จำเป็นต้องได้รับ รวมถึงระยะเวลาการรักษาตัว และโรคแทรกซ้อนที่มีร่วมด้วย จึงไม่สามารถระบุค่าใช้จ่ายแบบเฉพาะเจาะจงให้ทราบได้ คุณหมอจึงแนะนำว่าให้พาสัตว์เลี้ยงมาตรวจเพื่อที่หมอจะประเมินค่าใช้จ่ายให้ทราบ โดยที่โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์คุณหมอจะทำการแจ้งค่าใช้จ่ายก่อนทำการรักษาให้ทราบทุกครั้ง

ดูคลิปเกี่ยวกับโรคเบาหวานในน้องหมา น้องแมวเพิ่มเติม

https://youtu.be/a9XaUOz6IJI?feature=shared


หากสงสัยว่าน้องหมา น้องแมวที่บ้านมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานสามารถทำนัดคุณหมอเพื่อพาน้องมาตรวจได้เลยนะครับ

ทำนัดคุณหมอคลิกที่นี่ได้เลยครับ

สอบถามเพิ่มเติม และนัดหมาย

แชร์
99 ซอยสุขุมวิท 55 (ทองหล่อ) แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพ 10110

Copyright © 2023 Arak Animal Hospital | All Rights Reserved