
5 ข้อควรรู้ก่อนเลี้ยงน้องแมวพันธุ์หน้าสั้น
5 ข้อควรรู้ก่อนเลี้ยงน้องแมวพันธุ์หน้าสั้น
น้องแมวพันธุ์หน้าสั้น ไม่มีดั้ง น่ารักน่าเอ็นดู อย่างเอ็กโซติก ช็อตแฮร์ (Exotic Shorthair), เปอร์เซีย (Persian), สก็อตติช โฟลด์ (Scottish Fold), หิมาลายัน (Himalayan), เบอร์มีส (Burmese) ฯลฯ มีโครงสร้างกะโหลกศีรษะและใบหน้าที่สั้นกว่าน้องแมวสายพันธุ์อื่นๆ และด้วยความพิเศษนี้เอง ที่ทำให้เราต้องทราบความผิดปกติประจำสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยๆ และจะได้ดูแลน้องๆให้มีสุขภาพที่ดี
โครงสร้างอวัยวะต่างๆของใบหน้าในน้องแมวพันธุ์หน้าสั้น
โครงสร้างอวัยวะต่างๆของใบหน้าในน้องแมวพันธุ์หน้าสั้น มีจำนวนเท่ากับสายพันธุ์อื่น แต่กลับมีกะโหลกศีรษะและใบหน้าที่สั้นกว่าสายพันธุ์ทั่วไป ด้วยความจำกัดของพื้นที่ จึงทำให้พบความผิดปกติจากการพัฒนาโครงสร้างได้บ่อยๆ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ เช่น รูจมูกที่ตีบแคบลง เพดานอ่อนที่ยื่นยาว หรือแม้กระทั่งลักษณะหลอดลมที่มีขนาดตีบแคบกว่าปกติ ภาวะเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำให้ภาวะโรคทางเดินหายใจหรือมักเรียกรวมๆว่า Brachycephalic airway syndrome(BAOS)
ดังนั้นก่อนที่จะรับหรือหลังจากรับน้องแมวมาเลี้ยงเรียบร้อยแล้ว คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรสังเกตการหายใจน้องๆทั้งในขณะที่ตื่น และหลับ โดยสังเกตได้จากการฟังเสียง หรือลักษณะการหายใจที่ผิดปกติเช่น ดูหายใจลำบาก ไอ ตลอดจนการอ้าปากหายใจ ซึ่งในบางตัวที่อาการรุนแรงอาจมีภาวะการเป็นลมได้เลย
ลักษณะของดวงตาในน้องแมวพันธุ์หน้าสั้น
น้องแมวสายพันธุ์หน้าสั้น มักมีดวงตาที่ปูดโปนกว่าน้องแมวทั่วๆไป ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดแผล หรือสัมผัสสิ่งแปลกปลอมในสิ่งแวดล้อมได้ง่ายกว่ามาก รวมถึงทำให้ตาแห้งได้ง่ายกว่าปกติ นอกจากนี้แล้วยังสามารถพบภาวะความผิดปกติของท่อน้ำตาได้มากกว่าปกติอีกด้วย ซึ่งแค่ปัญหาตาเพียงอย่างเดียวอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นตามมาได้เช่น ปัญหาโรคผิวหนังบริเวณรอบๆดวงตา เนื่องจากความชื้นสะสม ทำให้เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อราเติบโตได้ดี ดังนั้นการทำความสะอาดบริเวณรอบดวงตาเป็นประจำร่วมกับการสังเกตจะช่วยลดการเกิดโรคที่ตามมาจากความผิดปกติได้อีกด้วย และถ้าสังเกตเห็นความผิดปกติ เช่น มีคราบน้ำตา น้ำตาไหลเยอะหรือตาแดง ควรพามาพบสัตวแพทย์
ช่องปากเเละฟันของน้องเเมวพันธุ์หน้าสั้น
ฟันของน้องแมวที่มีจำนวนเท่ากับน้องแมวทั่วไป แต่มีพื้นที่ช่องปากเล็กลง ทำให้ช่องฟันถูกบีบแคบ ก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมาคือ การสบกันของฟันที่ผิดปกติ การสะสมของสิ่งสกปรก หรือการเกิดแผลในช่องปากได้ ปัญหาเหล่านี้มักถูกมองข้าม แต่จริงๆแล้วส่งผลต่อการใช้ชีวิตของน้องค่อนข้างมากเลยทีเดียว เพราะจะทำให้น้องแมวทานอาหารน้อย กินอาหารลำบาก ผอม และทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง เกิดโรคอื่นตามมาได้ การเฝ้าสังเกตในขณะที่น้องทานอาหารเป็นส่วนที่ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย แจ้งกับคุณหมอเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถแก้ไข หรือลดความรุนแรงของความผิดปกติได้ทันท่วงที
น้องเเมวพันธุ์หน้าสั้นมักเป็นเด็กขี้เกัยจ
ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ภาวะการตีบตันทางเดินหายใจส่วนต้นทำให้ความทนทานต่อการออกกำลังกายน้อยลง อยากนอนเฉยๆเสียมากกว่า การสะสมไขมันจึงมากขึ้นเสี่ยงเป็นโรคอ้วน และยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะฮีทสโตรก(Heatstroke) เพราะระบายความร้อนทางการหายใจได้น้อยกว่าน้องแมวทั่วไป
ภาวะคลอดยาาก...ปัญหาที่พบบ่อยในน้องเเมวพันธุ์หน้าสั้น
อีกภาวะที่มักพบได้คือภาวะการคลอดยาก เนื่องจากมีการศึกษาที่พบว่าแม่แมวพันธุ์หน้าสั้นมีแนวโน้มที่จะมีช่องเชิงกรานแคบกว่าปกติแต่มักพบว่าศีรษะของลูกมักมีขนาดใหญ่กว่าปกติ ดังนั้นหากไม่มีแผนที่จะสร้างครอบครัวเพิ่ม แนะนำให้พิจารณาทำหมัน เพื่อป้องกันการผสมที่ไม่คาดคิด และ ไม่ให้ถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรมไปสู่รุ่นลูกของน้องนั่นเอง
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ชนิดไหนก็ตาม จะเป็นพันธุ์หน้าสั้นหรือหน้ายาว
ก็ตาม การหาข้อมูลและเตรียมตัวก่อนรับน้องๆมาเลี้ยงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องสำรวจความพร้อม ปรึกษาและทำความเข้าใจกับสมาชิกท่านทุกคนในบ้าน จัดเตรียมสถานที่ในการเลี้ยง อุปกรณ์ในการเลี้ยง รวมถึงให้แน่ใจว่า เราสามารถให้เวลากับน้องแมวได้ ดูแลสุขภาพ พามาทำวัคซีน ถ่ายพยาธิ ป้องกันปรสิตภายนอกและตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีของน้องแมวนั่นเอง