สุนัข และแมวฉี่ไม่ออก ปัญหาเหมือนเล็กๆ ที่ไม่เล็ก เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร?
สุนัข และแมวฉี่ไม่ออก เกิดจากอะไร รักษาอย่างไร?
ปัญหาทางเดินปัสสาวะจัดว่าเป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยในน้องหมา น้องแมว โดยเฉพาะอาการฉี่ไม่ออก ซึ่งอาจจะบอกได้อีกนัยนึงว่าเกิดจากทางเดินปัสสาวะอุดตัน
ระบบทางเดินปัสสาวะของน้องหมา น้องแมวประกอบด้วย ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ การอุดตันที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้
ภาวะที่ทางเดินปัสสาวะอุดตันเฉียบพลัน ทำให้น้องหมา น้องแมวปัสสาวะลำบากหรือปัสสาวะไม่ออกในทันที ส่งผลให้น้องหมา น้องแมวปวดปัสสาวะมากและปวดท้องมาก ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่เจ้าของต้องรีบพาน้องหมา น้องแมวของท่านไปพบสัตวแพทย์โดยเร็ว
ส่วนอาการปัสสาวะไม่ออกเรื้อรัง เป็นอาการไม่รุนแรง อาการจะค่อยๆ เกิด และมีอาการต่อเนื่อง เป็นอาการที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เช่น ปัสสาวะบ่อย แต่ออกมาปริมาณไม่มาก ทำให้มีปัสสาวะเหลือคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะหลังปัสสาวะทุกครั้งซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้น้องหมา น้องแมวฉี่บ่อย และเกิดปัญหากระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อตามมา
ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเพศผู้ และเพศมีย แต่มักพบในเพศผู้มากกว่าเพศเมีย เพราะโดยโครงสร้างทางกายวิภาค ท่อปัสสาวะจะเป็นท่อที่นำปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะเพื่อให้ร่างกายได้กำจัดของเสียผ่านปัสสาวะ ซึ่งท่อปัสสาวะของเพศผู้จะมีความยาวกว่าและแคบกว่าเพศเมีย จึงมีโอกาสเกิดการอุดตันได้ง่ายกว่า
และเมื่อปัสสาวะไม่ออก ก็จะส่งผลให้มีการคั่งค้างของของเสียในร่างกาย เกิดการสะสมสารพิษจากของเสียอย่างรวดเร็ว หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบทำการรักษาจะทำให้เกิดภาวะไตวายตามมาและเสียชีวิตได้ในที่สุด
ปัญหาที่ทำให้เกิดการอุดตันทางเดินปัสสาวะส่วนใหญ่มักเกิดจากนิ่วที่ก่อตัวในกระเพาะปัสสาวะ แล้วไหลออกมาติดค้างอุดตันอยู่ในท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะไม่สามารถออกจากกระเพาะปัสสาวะได้
อาการทางคลินิกที่เจออาจจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการอุดตันที่ทางเดินปัสสาวะ
อาการที่มักเจอ หากทางเดินปัสสาวะน้องหมา น้องแมวอุดตันแค่บางส่วนได้แก่
- ปัสสาวะเป็นหยดๆ กะปริบกะปรอย หรือ ปัสสาวะออกมาปริมาณน้อยและบ่อยๆ
- ใช้เวลาในการปัสสาวะนาน สุนัขบางตัวมีอาการเบ่งร่วมกับร้องปวดระหว่างปัสสาวะ
- ปัสสาวะออกมาสีเหลืองเข้มหรือมีเลือดปน
แต่หากทางเดินปัสสาวะน้องหมา น้องแมวอุดตันทั้งหมด จะพบอาการดังนี้
- แสดงอาการเบ่งปัสสาวะ แต่ไม่มีปัสสาวะออกมา
- ซึมและอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด
- เบื่ออาหาร ไม่กระหายน้ำ
- ถ้าของเสียคั่งค้างในร่างกายมากขึ้น อาการจะรุนแรงขึ้น จนทำให้เกิดการอาเจียน
- ช่องท้องขยายใหญ่ผิดปกติ
แต่สุดท้ายแล้วก็เป็นการยากที่จะแยกความแตกต่างของทางเดินปัสสาวะอุดตันบางส่วนหรือทั้งหมดได้จากอาการภายนอก ดังนั้นหากน้องหมา น้องแมวมีอาการดังกล่าวควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ระบุปัญหา และทำการรักษาได้ทันท่วงที
สาเหตุของการอุดตันในทางเดินปัสสาวะของสัตว์เลี้ยง
- นิ่วในกระเพาะปัสสาวะที่ไปติดอยู่ในท่อปัสสาวะ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด
- นิ่วในไต หรือท่อไต
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- ท่อทางเดินปัสสาวะอักเสบ
- มีการสร้างเมือกปริมาณมากในท่อทางเดินปัสสาวะ
- โรคต่อมลูกหมากในเพศผู้
- มะเร็งบางชนิด
ถ้าหากมีสิ่งกีดขวางท่อทางเดินปัสสาวะอย่างสมบูรณ์ กระเพาะปัสสาวะจะขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆจนสามารถแตกและทำให้ปัสสาวะไหลลงสู่ช่องท้องได้ สัตว์เลี้ยงที่ท่อปัสสาวะอุดตันจะเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่วันหากการอุดตันไม่ทุเลาลง ดังนั้นควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันทีหากไม่สามารถปัสสาวะได้
ขั้นตอนการตรวจ
- สัตวแพทย์จะทำการซักประวัติและทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมถึงคลำตรวจกระเพาะปัสสาวะในช่องท้อง ซึ่งบ่อยครั้งจะคลำพบกระเพาะปัสสาวะขยายใหญ่ หรือแม้กระทั่งรู้สึกได้ถึงนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
- การตรวจทางทวารหนักก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้รู้สึกถึงนิ่วในท่อปัสสาวะได้ และยังสามารถประเมินปัญหาต่อมลูกหมากได้ในสัตว์เลี้ยงเพศผู้อีกด้วย
- ตรวจเลือด เพื่อประเมินการทำงานของไต ตรวจหาการติดเชื้อ หรือภาวะความเป็นกรดด่างของเลือดที่อาจผิดปกติจากภาวะของเสียในเลือดสูง
- ตรวจปัสสาวะ และเพาะเชื้อปัสสาวะ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อ หรือผลึกนิ่วในปัสสาวะ
- ถ่ายภาพรังสีวินิจฉัย หรือการอัลตร้าซาวน์ช่องท้อง เพื่อดูนิ่ว หรือลักษณะของกระเพาะปัสสาวะ
- กรณีที่พบว่าค่าไตมีปัญหา จนส่งผลให้มีระดับโพแทสเซียมสูงจะพิจารณาตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพิ่มเติม เนื่องจากระดับโพแทสเซียมที่สูงส่งผลให้หัวใจมีปัญหาได้
ขั้นตอนการรักษา
การอุดตันทางเดินปัสสาวะในน้องหมา น้องแมวมักต้องได้รับการรักษาที่ต้นเหตุ ร่วมกับการให้สารน้ำเข้าหลอดเลือดดำและยาแก้ปวดเพื่อปรับสภาพร่างกายของสัตว์เลี้ยงให้พร้อมสำหรับการผ่าตัด กรณีที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดเอาสิ่งที่อุดตันหรือกีดขวางออก หากพบการติดเชื้อจะมีการให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย นอกจากนั้นจะพิจารณาให้ยาอื่นๆ ตามอาการ เช่น ยาบรรเทาอาการกล้ามเนื้อกระตุกของท่อปัสสาวะ ยาลดการอักเสบ ฯลฯ
เมื่ออาการคงที่พร้อมสำหรับการวางยาซึมหรือยาสลบ สัตวแพทย์จะมีการใส่สายสวนปัสสาวะเข้าไปในท่อปัสสาวะ ซึ่งบางกรณีจะช่วยดันนิ่วจากท่อปัสสาวะเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะเพื่อบรรเทาการอุดตันได้ การผ่าตัดเอานิ่วออกจากกระเพาะปัสสาวะจะซับซ้อนน้อยกว่าและส่งผลข้างเคียงน้อยกว่า แต่ถ้าหากนิ่วไม่สามารถผ่านเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ สัตวแพทย์ผู้ผ่าตัดจะต้องทำการผ่าตัดแก้ไขการอุดตันโดยตรงจากท่อปัสสาวะ หากมีเนื้อเยื่อผิดปกติหรือมีเนื้องอกทำให้เกิดการอุดตัน สัตวแพทย์ผู้ผ่าตัดจะสามารถตัดชิ้นเนื้อออกได้ในขณะที่ทำการผ่าตัด
ทั้งนี้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะมีหลายประเกท และบางชนิดอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เนื่องจากสามารถละลายนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ด้วยอาหารสุนัข และแมวแบบพิเศษ
และในบางกรณีก็อาจใช้การส่องกล้องเข้าไปทางเดินปัสสาวะเพื่อเอาก้อนนิ่วเล็กๆ ออกจากกระเพาะปัสสาวะแทนการผ่าตัดได้ (อ่านเรื่องการส่องกล้องเพิ่มเติม)
สุดท้ายแล้วสรุปได้ว่าอาการฉี่ไม่ออกนับเป็นภาวะฉุกเฉินอย่างหนึ่ง เนื่องจากสามารถทำให้น้องหมา น้องแมวที่เรารักไตวายเสียชีวิตได้ ดังนั้นยิ่งพามาพบสัตวแพทย์ทันทีที่มีอาการก็จะยิ่งลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ ถ้าเจ้าของสังเกตเห็นอาการผิดปกติที่กล่าวไปข้างต้น แนะนำให้รีบพามาตรวจเพื่อทำการรักษา หรือโทรมาสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้กับทางโรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ตลอด 24 ชั่วโมงเลยนะคะ
เขียนโดย สพ.ญ. ชุตินันท์ สุวรรณสิงห์ ศูนย์ตรวจรักษาโรคทั่วไป